12-21-2015, 03:48 PM
การสำรวจรวบรวมแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนอิสระ
สมปอง หมื่นแจ้ง และกัลยกร โปร่งจันทึก
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
สมปอง หมื่นแจ้ง และกัลยกร โปร่งจันทึก
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
เก็บตัวอย่างดิน ราก ลำต้น ใบ เพื่อแยกแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนอิสระ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างดินและพืชในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งหมด 75 ตัวอย่าง จากพืชอาศัยที่แตกต่างกัน ทั้งพืชไร่ พืชสวนและพืชอื่นๆ โดยเก็บตัวอย่างดินประมาณ 1 กิโลกรัม และตัวอย่างราก ต้น และใบ พืชเป้าหมายใส่ถุงพลาสติกสำหรับเก็บตัวอย่างให้มิดชิด ใส่กระติกน้ำแข็ง ดำเนินการนับและแยกเชื้อในห้องปฏิบัติการ ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2549-2553 ได้เชื้อแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนอิสระทั้งสิ้น 350 ไอโซเลท แยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 คล้ายแบคทีเรียสกุล Azotobacter spp. มีทั้งหมด 100 ไอโซเลท คัดเลือกไอโซเลทที่มีศักยภาพในการตึงไนโตรเจนสูงที่สุด 1 ไอโซเลท คือ DASF 02007 ซึ่งเก็บจากดินรอบรากชา ในแปลงรวบรวมพันธุ์ชาโครงการหลวง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ มีศักยภาพในการตรึงไนโตรเจน 1,500±297 nmole C2H4/10(9) CFU/h(-1) กลุ่มที่ 2 คล้ายแบคทีเรียสกุล Azospirillium spp. มีทั้งหมด 215 ไอโซเลท คัดเลือกไอโซเลทที่มีศักยภาพในการตรึงไนโตรเจนสูงที่สุดคือ DASF 04178 ซึ่งเก็บจากดินรอบรากหน่อไม้ฝรั่งอินทรีย์ของเกษตรกร ต.ทัพพริก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีศักยภาพในการตรึงไนโตรเจน 189±3.2 nmole C2H4/tube/h(-1) และกลุ่มที่ 3 คล้ายแบคทีเรียสกุล Beojerinckia spp. มีทั้งหมด 35 ไอโซเลท คัดเลือกไอโซเลทที่มีศักยภาพในการตรึงไนโตรเจนสูงที่สุดคือ DASF 06026 ซึ่งเก็บจากแปลงเงาะอินทรีย์ของเกษตรกร ต.นาขวัญ อ.เมือง จ.ระยอง มีศักยภาพในการตรึงไนโตรเจน 1,800±147 nmole C2H4/10(9) CFU/h(-1)
ผลจากการทดลองทำให้สามารถรวบรวมแบคทีเรียตรึงไนโตรเจนอิสระได้รวม 3 สกุล 350 ไอโซเลท และสามารถคัดเลือกเชื้อที่มีประสิทธิภาพในแต่ละสกุลได้จำนวน 1 ไอโซเลท รวม 3 ไอโซเลท เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาปุ๋ยชีวภาพพีจีพีอาร์ต่อไป