12-09-2015, 02:45 PM
การควบคุมโรคเหี่ยวแบคทีเรียของมะเขือเทศโดยชีววิธี
วงศ์ บุญสืบสกุล, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, บูรณี พั่ววงศ์แพทย์, สุรีย์พร บัวอาจ, วิลาวัลย์ ใคร่ครวญ และธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์
กลุ่มงานบักเตรีวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
วงศ์ บุญสืบสกุล, ปิยรัตน์ ธรรมกิจวัฒน์, บูรณี พั่ววงศ์แพทย์, สุรีย์พร บัวอาจ, วิลาวัลย์ ใคร่ครวญ และธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์
กลุ่มงานบักเตรีวิทยา กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช, ศูนย์วิจัยพืชสวนกาญจนบุรี และศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ
เก็บรวบรวมตัวอย่างโรคเหี่ยวแบคทีเรียมะเขือเทศในพื้นที่ปลูกภาคกลางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แยกได้เชื้อที่เป็นสาเหตุโรคเหี่ยวมะเขือเทศ 19 ไอโซเลท เมื่อนำมาทดสอบต่อเชื้อปฏิปักษ์ที่เก็บรักษาไว้ที่กลุ่มงานบักเตรีวิทยาพบว่า มีเชื้อที่มีคุณสมบัติปฏิปักษ์ 9 ไอโซเลท โดยนำเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Rs ทดสอบแบบการเผชิญหน้า (direct bioassay) ด้วยวิธี disc diffusion และ double layer culture พบเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ 5 ไอโซเลท แสดงคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของเชื้อสาเหตุโรคดังกล่าวได้ดี (inhibited zone) มีขนาด 4.25-10.75 มิลลิเมตร จากการทดสอบเชื้อมีชีวิต และ 6.25 - 12.00 มิลลิเมตร จากการใช้อาหารกรองของเชื้อ คัดเลือกเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ดังกล่าวจำนวน 5 ไอโซเลท ทดสอบความสามารถการควบคุมโรคเหี่ยวของมะเขือเทศในโรงเรือนปลูกพืชทดลองในสภาพก่อนและหลังการเป็นโรค โดยก่อนปลูกแช่รากถึงโคนต้นของต้นกล้ามะเขือเทศด้วยสารละลายเชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์อัตราความเข้มข้น 109 หน่วยโคโลนีต่อมิลลิลิตร นาน 2 - 3 นาที แล้วราดด้วยสารละลายเชื้อเดียวกันอัตราความเข้มข้น 10(6) หน่วยโคโลนีต่อมิลลิลิตร ปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อกระถาง 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน พบว่า เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ทั้ง 5 ไอโซเลท สามารถป้องกันการเกิดโรคได้แต่ไม่สามารถควบคุมโรคได้ถ้าเชื้อเข้าทำลายพืชนั้นแล้ว พบว่าเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคของกรรมวิธีใช้เชื้อแบคทีเรียปฏิปักษ์ก่อนที่พืชจะเป็นโรคแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิต จากกรรมวิธีเปรียบเทียบเชื้อปฏิปักษ์ทั้ง 5 ไอโซเลท สามารถควบคุมและลดการเกิดโรคเหี่ยวของมะเขือเทศได้ 41.1 ถึง 80.0% การตรวจสอบปริมาณเชื้อ Rs ในดินบริเวณรากมะเขือเทศพบว่า ทุกกรรมวิธีของเชื้อปฏิปักษ์มีประชากรเชื้อสาเหตุโรคลดลง ทดสอบการควบคุมโรคเหี่ยวของมันฝรั่งในสภาพแปลงทดลองโดยการคลุกหัวพันธุ์มันฝรั่งก่อนปลูกด้วยสารละลายเชื้ออัตราเดียวกับที่ใช้ในสภาพเรือนปลูกพืชทดลอง และราดด้วยสารละลายเชื้ออัตราเดียวกันปริมาตร 10 มิลลิลิตรต่อหลุม 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน พบว่าทุกกรรมวิธีของการใช้เชื้อปฏิปักษ์สามารถควบคุมและลดการเกิดโรคเหี่ยวของมันฝรั่งได้ 15.8 ถึง 44.9% มีเปอร์เซ็นต์การเป็นโรคแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ