วิจัยพัฒนาหางไหล และหนอนตายหยากเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติป้องกันกำจัดศัตรูพืช
#1
วิจัยพัฒนาหางไหล และหนอนตายหยากเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติป้องกันกำจัดศัตรูพืช
รัตนาภรณ์ พรหมศรัทธา, พรรณีกา อัตตนนท์, เสริม สีมา, อัสริยะ สืบพันธุ์ดี, มัณฑนา มิลน์, อุดมลักษณ์ อุ่นจิตวรรธนะ, วัชร
กลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร สำนักปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การวิจัยพัฒนาพืช 2 ชนิด หางไหลและหนอนตายหยากเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีวัตถุประสงค์ในการนำพืชที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชทางการเกษตร การวิจัยพัฒนาพืชหางไหลเป็นผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชพบว่า การผสมปรุงแต่งผลิตภัณฑ์หางไหลที่มีเนื้อสารสกัดหยาบ 27 - 36 % ในสูตรผสมเป็นอัตราที่เหมาะสม มีปริมาณสารสำคัญโรติโนนอยู่ระหว่าง 4 - 5 % คงสภาพได้ดีที่สภาวะที่เป็นกรด เมื่อทดสอบการคงสภาพระยะสั้นโดยใช้ความร้อนเป็นตัวเร่งพบว่า ผลิตภัณฑ์หางไหลสูตร ก45 (pH 5.81) มีการคงสภาพดีที่สุด การทดสอบประสิทธิภาพในห้องปฏิบัติการพบว่า ผลิตภัณฑ์นี้สามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชเศรษฐกิจ เช่น หนอนกระทู้หอมและหนอนกระทู้ผักได้ดี ทำการทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หางไหลในระดับไร่นา ในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในหน่อไม้ฝรั่งพบว่า ผลิตภัณฑ์หางไหลมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟในหน่อยไม้ฝรั่ง 62 - 70 % เมื่อเทียบกับสารสกัดพริก และน้ำหมักชีวภาพที่เกษตรกรใช้อยู่เป็นประจำ ซึ่งมีประสิทธิภาพ 53 - 56 และ 55 % ตามลำดับ การป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายในแปลงกระเจี๊ยบเขียวพบว่า ผลิตภัณฑ์หางไหลที่ความเข้มข้น 0.005 - 0.01 % มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่นฝ้ายใกล้เคียงกับสารฆ่าแมลงฟิโปรนิล

          การวิจัยพัฒนาพืชหนอนตายหยากเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติป้องกันกำจัดศัตรูพืชพบว่า รากหนอนตายหยากที่เก็บจากจังหวัดในภาคต่างๆ ของประเทศ มีปริมาณอัลคาลอยด์ทั้งหมด (Total alkaloid) อยู่ระหว่าง 1.16 - 6.60 % สกัดรากหนอนตายหยาก Stemona burkillii Prain และ Stemona phyllantha Gagnep ด้วยเอทานอล นำสารสกัดหยาบที่ได้มาสกัดแยกส่วนโดยใช้ hexane, dichloromethane และ ethyl acetate พบว่า อัลคาลอยด์อยู่ในส่วนของ dichloromethane จึงนำส่วนนี้มาผสมปรุงแต่ง โดยนำส่วนสารสกัด dichloromethane fraction ของ Stemona burkillii Prain และ Stemona phyllantha Gagnep มาผสมปรุงแต่งเป็นสูตรผลิตภัณฑ์ (fraction 2.5 % w/w, อุตรดิตถ์) ในระดับห้องปฏิบัติการ ผลจากการศึกษาการผลิต ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากด้วยเครื่องสกัดหางไหลต้นแบบ เป็นการสกัดโดยวิธี solid-liquid extraction ใช้เมทานอลเป็นสารละลายพบว่า การสกัดหนอนตายหยาก Stemona phyllantha Gagnep ด้วยเครื่องสกัดหางไหลระดับโรงงานต้นแบบ ใช้หนอนตายหยากบดแห้ง ความชื้นต่ำกว่า 10% จำนวน 5 กิโลกรัม จะได้สารสกัดหยาบเหลวเหนียวเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม มี Total alkaloid เฉลี่ย 7.98 % สภาวะที่ใช้ในการลดปริมาตรของเครื่องคือ ความดันภายในเท่ากับ -0.5 bar-gauge และอุณหภูมิภายในที่ 42 - 50 องศาเซลเซียส ได้สูตรผลิตภัณฑ์หนอนตายหยาก Stemona phyllantha Gagnep ที่มีอัตราส่วนสารสกัดหนอนตายหยากต่อส่วนผสมปรุงแต่ง คือ 66 % ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากทั้ง 2 ชนิด 2.5% w/w S. burkillii (ห้องปฏิบัติการ) และ S. phyllantha Gagnep (โรงงาน) ในแปลงเกษตรกร ทดสอบควบคุมเพลี้ยไฟในหน่อไม้ พบว่า ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากทั้ง 2 ชนิด ควบคุมเพลี้ยไฟได้ดี การควบคุมเพลี้ยจักจั่นในแปลงกระเจี๊ยบเขียวพบว่า สารฟิโปรนิลควบคุมเพลี้ยจักจั่นได้ดีที่สุด รองลงมาเป็นหางไหลสดแช่น้ำ ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยาก 2.5 % w/w S. burkillii และผลิตสารสกัดหยาบ S. phyllantha Gagnep (โรงงาน) ตามลำดับ การควบคุมด้วงหมัดผักในแปลงคะน้าพบว่า ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยากทั้ง 2 ชนิด ให้ผลในการป้องกันกำจัดได้ดีไม่แตกต่างกันแต่พบว่า ผลิตภัณฑ์หนอนตายหยาก 2.5 % w/w S. burkillii ให้ผลใกล้เคียงสารฟิโปรนิล สำหรับการควบคุมหนอนใยผักในแปลงคะน้าพบว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดให้ผลในระดับปานกลาง การศึกษาความเป็นพิษต่อลูกปลานิลพบว่า หนอนตายหยาก 2.5 % w/w S. burkillii ให้ค่า LC50 (ลูกปลานิล) 765 ppm. ในเวลา 96 ชั่วโมง และ S. phyllantha Gagnep (โรงงาน) ให้ค่า LC50 (ลูกปลานิล) 225 ppm. ในเวลา 96 ชั่วโมง


ไฟล์แนบ
.pdf   1819_2553.pdf (ขนาด: 131.68 KB / ดาวน์โหลด: 733)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม