การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในการผลิตกระเจี๊ยบเขียว
#1
การใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสานในการผลิตกระเจี๊ยบเขียว
ภาวนา ลิกขนานนท์ และสุปรานี มั่นหมาย
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

               เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตกระเจี๊ยบเขียวซึ่งเป็นพืชผักส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่ง จึงทำการทดลองใช้ปุ๋ยชนิดต่างๆ 3 ชนิดคือ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก, น้ำหมักชีวภาพและปุ๋ยหมักน้ำชา) และปุ๋ยชีวภาพ (ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต) ร่วมกันในการปลูกและผลิตกระเจี๊ยบเขียว ทำการทดลองทั้งสภาพเรือนทดลองในปี 2550 และสภาพไร่ในปี 2550-2553 ที่จังหวัดขอนแก่น และสุพรรณบุรี โดยใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยหมัก+น้ำหมักชีวภาพ+ปุ๋ยหมักน้ำชา) ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมักร่วมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ และปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยชีวภาพ 

          ความสูงของกระเจี๊ยบเขียวจากการทดลองทั้งในสภาพเรือนทดลองและสภาพไร่ปี 2550 ไม่แตกต่างกันทางสถิติจากกรรมวิธีที่ใส่ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ หรือปุ๋ยหมัก 100 เปอร์เซ็นต์ หรือมีการใส่ปุ๋ยร่วมกันอย่างผสมผสานทุกแบบมีแนวโน้มว่าการใส่ปุ๋ยเคมี N และ K ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพทำให้ต้นกระเจี๊ยบเขียวสูงกว่ากรรมวิธีการใส่ปุ๋ยอื่นๆ การใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ ทำให้น้ำหนักกระเจี๊ยบเขียวไม่แตกต่างกันทางสถิติ จากการใส่ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ มีแนวโน้มว่าการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยชีวภาพทำให้ได้น้ำหนักฝักกระเจี๊ยบเขียวมากกว่าการใช้ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ การใส่ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนและโพแทช ร่วมกับปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟต ทำให้ได้น้ำหนักผลผลิตในสภาพไร่มากที่สุดประมาณ 1,320 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งแตกต่างทางสถิติจากการใส่ปุ๋ยหมักอย่างเดียวซึ่งเท่ากับ 808 กิโลกรัมต่อไร่

          ผลการทดลองในสภาพไร่ปี 2552 ที่จังหวัดสุพรรรบุรีพบว่า การใส่ปุ๋ยชีวภาพละลายฟอสเฟตทั้งชนิดแบคทีเรียและเชื้อราร่วมกับปุ๋ยเคมีไนโตรเจน และโพแทช ให้ผลผลิตกระเจี๊ยบเขียวไม่แตกต่างกันทางสถิติ คือ เท่ากับ 531 และ 503 กิโลกรัมต่อไร่ และมีแนวโน้มให้ปริมาณผลผลิตเป็นน้ำหนักกระเจี๊ยบเขียวสูงกว่าในกรรมวิธีอื่นๆ


ไฟล์แนบ
.pdf   1940_2553.pdf (ขนาด: 1.21 MB / ดาวน์โหลด: 2,268)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม