การคัดเลือกและพัฒนาวิธีการเลี้ยงเชื้อราบิวเวอเรียเพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช
#1
การคัดเลือกและพัฒนาวิธีการเลี้ยงเชื้อราบิวเวอเรีย (white muscardine fungus); Beauveria bassiana (Balsamo) เพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช
เสาวนิตย์ โพธิ์พูนศักดิ์, อิศเรส เทียนทัด และวิไลวรรณ เวชยันต์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การคัดเลือกและพัฒนาวิธีการเลี้ยงเชื้อราบิวเวอเรียเพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืช เริ่มในเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2555 ที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มงานวิจัยการปราบศัตรูพืชทางชีวภาพ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร การดำเนินงานในปี 2554 ได้เก็บตัวอย่างแมลงเป็นโรคในธรรมชาติ จำนวน 12 ตัวอย่าง ได้แก่ เชื้อราจากใบส้มโอ อ.บางขันแตก จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน ๑ ตัวอย่าง, เชื้อราจากเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จำนวน ๑ ตัวอย่าง, เชื้อราจากหนอนแทะเปลือกลองกอง จ.จันทบุรี จำนวน ๑ ตัวอย่าง และเชื้อราจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวที่ จ.สุพรรณบุรี จำนวน 9 ตัวอย่าง เมื่อนำมาแยกเชื้อให้บริสุทธิ์พบเป็นเชื้อราแมลงจำนวน 3 ชนิด คือ Paecillomyces sp., Lecanicillium sp. และ Isaria sp. การดำเนินงานในปี 2555 ได้รับความอนุเคราะห์ตัวอย่างเชื้อราบิวเวอเรียจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรที่แยกมาจากมอดเจาะเมล็ดกาแฟ และยังไม่เคยทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงศัตรูพืชชนิดอื่นมาก่อน จึงต้องการศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อราบิวเวอเรียไอโซเลทนี้เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจนำไปใช้ การดำเนินงานเริ่มจากเลี้ยงราบิวเวอเรียบนข้าวโพดบดหยาบเป็นเวลา 14 วัน จากนั้นล้างและปรับกำลังโคนิเดีย = 1 X 10(9) โคนิเดีย/มล. นำสารแขวนลอยโคนิเดียดังกล่าวมาทดสอบประสิทธิภาพกับแมลงศัตรูพืชชนิดต่างๆ ได้แก่ หนอนกระทู้หอม Spodoptera exigua (Hübner), หนอนกระทู้ผัก Spodoptera litura (Fabricius), ด้วงหมัดผัก Phyllotreta sinuata (Stephens), เพลี้ยแป้งสีชมพู Phenacoccus manihoti Matile-Ferrero และตั๊กแตนผี Aularches miliaris (Linnaeus) โดยเปรียบเทียบกับน้ำเปล่า (control) จากผลการทดลองพบว่า หนอนกระทู้หอม และหนอนกระทู้ผัก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราบิวเวอเรียสายพันธุ์ชุมพรค่อนข้างน้อย โดยหนอนกระทู้หอมพบการเกิดโรคที่ 19% และหนอนกระทู้ผักพบการเกิดโรคที่ 34% ส่วนด้วงหมัดผัก, เพลี้ยแป้งสีชมพู และตั๊กแตนผี พบเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราบิวเวอเรียสายพันธุ์ชุมพรมากกว่า 50% โดยตายเนื่องจากการติดเชื้อราบิวเวอเรียที่ 57.78, 63.5 และ 76.67% ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   2375_2555.pdf (ขนาด: 206.8 KB / ดาวน์โหลด: 1,172)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม