11-23-2015, 10:41 AM
การศึกษาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชของผลพลับสดนำเข้าจากออสเตรเลีย
วรัญญา มาลี, วลัยกร รัตนเดชากุล, คมศร แสงจินดา และณัฏฐพร อุทัยมงคล
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
วรัญญา มาลี, วลัยกร รัตนเดชากุล, คมศร แสงจินดา และณัฏฐพร อุทัยมงคล
กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
การศึกษาวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงศัตรูพืชของผลพลับสดนำเข้าจากออสเตรเลีย ดำเนินการที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างเดือนตุลาคม 2553 - กันยายน 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบชนิดศัตรูพืชกักกันและแนวทางการกำหนดมาตรการทางวิชาการด้านสุขอนามัยพืชสำหรับจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชในการนำเข้าผลพลับสดนำเข้าจากออสเตรเลีย โดยดำเนินการตามมาตรฐานนานาชาติสำหรับมาตรการสุขอนามัยพืช ฉบับที่ 2 เรื่อง กรอบสำหรับการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช และฉบับที่ 11 เรื่อง การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชสำหรับศัตรูพืชกักกันรวมถึงการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ผลการศึกษาพบว่า ศัตรูพืชกักกันของผลพลับสดนำเข้าจากออสเตรเลีย มีจำนวน 11 ชนิด แบ่งตามระดับความเสี่ยงได้ดังนี้ ศัตรูพืชความเสี่ยงสูง ได้แก่ แมลงวันผลไม้ Bactrocera jarvisi, B. neohumeralis, B. tryoni, Ceratitis capitata ศัตรูพืชความเสี่ยงปานกลาง ได้แก่ เพลี้ยหอย Ceroplastes destructor, Parthenolecanium persicae, Aspidiotus nerii เพลี้ยแป้ง Pseudococcus calceolariae ด้วงฟูลเลอร์โรส Pantomorus cervinus และหนอนเจาะผล Epiphyas postvittana, Isotenes miserana ซึ่งมีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการจัดการความเสี่ยงศัตรูพืชกักกันดังกล่าวก่อนส่งออกมายังประเทศไทย สำหรับศัตรูพืชกักกันชนิดที่มีความเสี่ยงสูงจำเป็นต้องมีมาตรการเฉพาะโดยกำหนดให้ (1) ผลพลับต้องมาจากแปลงปลูกในพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้หรือ (2) ผลพลับจากแปลงปลูกนอกพื้นที่ปลอดแมลงวันผลไม้ต้องกำจัดแมลงวันผลไม้ในพลับโดยวิธีการกำจัดศัตรูด้วยความเย็นก่อนส่งออก สำหรับศัตรูพืชกักกันชนิดอื่นๆ กำหนดให้มีการบริหารจัดการศัตรูพืชอย่างเป็นระบบในแปลงปลูกเพื่อส่งออกและในโรงบรรจุสินค้า การตรวจรับรองก่อนส่งออก หรือการใช้มาตรการหลายอย่างร่วมกันอย่างเป็นระบบ (system approach)