การศึกษาช่วงเวลาการใช้สารกำจัดวัชพืช paraquat ในข้าวโพด
#1
การศึกษาช่วงเวลาการใช้สารกำจัดวัชพืช paraquat ในข้าวโพด
คมสัน นครศรี, ภัทร์พิชชา รุจิระพงศ์ชัย, จรัญญา ปิ่นสุภา และนงลักษณ์ ปั้นลาย
กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5

          การศึกษาช่วงเวลาการใช้สารกำจัดวัชพืช paraquat ในการกำจัดวัชพืชประเภทใบแคบและประเภทใบกว้างในข้าวโพด วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 4 ซ้ำ จำนวน 9 กรรมวิธี ประกอบด้วยช่วงเวลาการใช้สาร paraquat 2, 3, 4, 5, 6 สัปดาห์ หลังข้าวโพดงอกอัตรา 120 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ เปรียบเทียบกับสาร alachlor อัตรา 300 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ สาร atrazine อัตรา 300 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ การกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคนและวิธีไม่กำจัดวัชพืช ทำ การทดลองระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2554 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี จังหวัดลพบุรี พบว่า ช่วงเวลาการใช้สาร paraquat 2, 3, 4, 5 และ 6 สัปดาห์ หลังข้าวโพดงอกอัตรา 120 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ เป็นพิษต่อข้าวโพดเล็กน้อยถึงปานกลางในระยะ 7 วัน และความเป็นพิษลดลงที่ระยะ 30 วัน หลังการใช้สารในช่วงเวลาการใช้สาร paraquat 2 และ 3 สัปดาห์ หลังข้าวโพดงอก และไม่แสดงอาการเป็นพิษในช่วงเวลาการใช้สาร paraquat 4, 5 และ 6 สัปดาห์หลังข้าวโพดงอก ส่วนประสิทธิภาพการควบคุมวัชพืชที่ระยะ 7 และ 15 วันหลังพ่นสารพบว่า ช่วงเวลาการใช้สาร paraquat 2, 3, 4, 5 และ 6 สัปดาห์ หลังข้าวโพดงอกอัตรา 120 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ มีประสิทธิภาพในการควบคุมวัชพืชประเภทใบแคบที่พบ ได้แก่ หญ้านกสีชมพู (Echinochloa colona (L.) Link.) และหญ้าตีนนก (Digitaria ciliaris (Retz.) Koel.) วัชพืชประเภทใบกวาง ได้แก่ ผักเบี้ยหิน (Trianthema portulacustrum L.) ปอวัชพืช (Corchorus olitorius L.) และวัชพืชประเภทกก ได้แก่ แห้วหมู (Cyperus rotundus L.) ได้ดี การกำจัดวัชพืชทุกกรรมวิธีไม่ทำให้จำนวนต้นต่อไร่ ความสูง และน้ำหนักฝักเฉลี่ย 10 ฝัก แตกต่างกันช่วงเวลาการใช้สาร paraquat 3 สัปดาห์ หลังข้าวโพดงอก ให้ผลผลิตมากที่สุด 1,916.00 กิโลกรัมต่อไร่ แตกตางกันกับกรรมวิธีไม่กำจัดวัชพืชที่ให้ผลผลิต 1,486.00 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ไม่แตกต่างกันกับกรรมวิธี ช่วงเวลาการใช้สาร 2, 4, 5, 6 สัปดาห์หลังข้าวโพดงอก สาร atrazine อัตรา 300 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ และกรรมวิธีการกำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคนให้ผลผลิต 1,813.33, 1,616.00, 1,773.33, 1,597.33, 1,524.67, 1,707.33 และ 1,740.33 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ


ไฟล์แนบ
.pdf   2109_2554.pdf (ขนาด: 140.67 KB / ดาวน์โหลด: 577)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม