การวิจัยและพัฒนาการผลิตพันธุ์พืชเพื่อการผลิตพืชระบบเกษตรอินทรีย์
#1
การวิจัยและพัฒนาการผลิตพันธุ์พืชเพื่อการผลิตพืชระบบเกษตรอินทรีย์
ศิริจันทร์ อินทร์น้อย

          การศึกษาชนิดของต้นตอมะเขือพื้นบ้านต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของมะเขือเทศพันธุ์สีดา และมะเขือยาวในระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์เพื่อศึกษาความเหมาะสมของชนิดต้นตอมะเขือเทศพื้นบ้านที่เจริญเติบโตได้ดีกับมะเขือเทศพันธุ์สีดาและมะเขือยาวในสภาพการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำการทดลองในพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครปฐม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรปทุมธานี ในช่วงเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนกันยายน 2560 จากการศึกษาพบว่า ต้นมะเขือเทศที่ปลูกด้วยต้นต่อมะเขือพวงมีอัตราการรอดตายหลังเสียยอดและอัตราการรอดตายหลังย้ายปลูกมากที่สุด 88 และ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความสูงของลำต้น ความกว้างของทรงพุ่ม และการให้ผลผลิตนั้นการไม่ใช้ต้นตอจะทำให้ต้นมะเขือมีความสูง ความกว้างทรงพุ่ม และผลผลิตมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ต้นตอชนิดต่างๆ สำหรับการศึกษาในมะเขือยาวพบว่า กรรมวิธีที่ 6 ปลูกต้นมะเขือยาวโดยไม่ใช้ต้นตอและกรรมวิธีที่ 2 เสียบยอดมะเขือยาวบนต้นตอมะเขือพวง ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ โดยมี อัตราการรอดตายของต้นกล้ามะเขือยาวหลังย้ายปลูกลงแปลง 100 และ 90% ความสูงของลำต้น คือ 60.5 และ 59.75 เซนติเมตร ความกว้างของทรงพุ่ม 67.3 และ 65.25 เซนติเมตร จำนวนผลต่อต้น คือ 19.5 และ 21.42 ผลน้ำหนักผลผลิตต่อต้น คือ 1,972 และ 1,970 กรัม น้ำหนักผลผลิตต่อไร่ คือ 5,917 และ 5,912 กิโลกรัม ตามลำดับ แต่มีแตกต่างทางสถิติจากกรรมวิธีที่อื่นๆ

          การคัดเลือกพันธุ์ถั่วฝักยาวพื้นบ้านและบวบพื้นบ้านที่เหมาะสมในระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ มีวัตถุประสงค์เพื่อเคัดเลือกพันธุ์ถั่วฝักยาวและบวบสายพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมในระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ ดำเนินการระหว่างปี 2559 - 2560 ระยะเวลา 2 ปี จากผลการทดลองพบว่าถั่วแต่ละสายพันธุ์มีการเจริญเติบโตแตกต่างกัน โดยพันธุ์ที่ติดฝักและให้ผลผลิตมีเพียง 6 สายพันธุ์ คือ พันธุ์พิจิตร2 ฉะเชิงเทรา1 นครราชสีมา3 สุรินทร์ มหาสารคาม2 และศรีสะเกษ ทำให้ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติได้จากถั่วฝักยาว 6 สายพันธุ์ พบว่าพันธุ์ฉะเชิงเทรา1 มีแนวโน้มการเจริญเติบโตดี และให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากที่สุด คือ 580 กิโลกรัม/ไร่รวมทั้งยังมีแนวโน้มแข็งแรงทนต่อโรคและแมลง เนื่องจากพบฝักเสียระหว่างเก็บผลผลิตในปริมาณเล็กน้อยคิดเป็น 13.05 เปอร์เซ็นต์ และฝักค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งพันธุ์ฉะเชิงเทรา1 อาจเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับปลูกในระบบอินทรีย์ เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตได้แสดงว่ามีการตอบสนองต่อปุ๋ยอินทรีย์และพื้นที่ปลูกได้ดีที่สุด

          สำหรับการคัดเลือกพันธุ์บวบพื้นบ้านจากการดำเนินการพบว่าสามารถรวบรวมสายพันธุ์บวบพื้นบ้านได้จำนวน 4 กลุ่มพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มพันธุ์บวบเหลี่ยม กลุ่มพันธุ์บวบหอม กลุ่มพันธุ์บวบงู และกลุ่มพันธุ์บวบพวงโดยกลุ่มพันธุ์บวบทั้ง 4 กลุ่มพันธุ์ สามารถปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมดเนื่องจากเป็นพันธุ์บวบสายพันธุ์พื้นบ้านที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพธรรมชาติของแปลงเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะกลุ่มพันธุ์บวบเหลี่ยมเนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกติดผลก่อนกลุ่มพันธุ์บวบอื่นๆ จึงสามารถให้ผลผลิตได้เร็วและได้ผลผลิตต่อไร่ที่สูงเนื่องจากผลมีขนาดใหญ่และยาวส่งผลให้ได้น้ำหนักมาก และบวบเหลี่ยมยังเป็นที่นิยมสำหรับการบริโภคของผู้บริโภคโดยทั่วไปในท้องตลาด นอกจากนั้นกลุ่มพันธุ์บวบเหลี่ยมยังเป็นกลุ่มพันธุ์ที่สามารถหาเมล็ดพันธุ์ได้ง่ายกว่ากลุ่มพันธุ์อื่นฯ และมีความหลากหลายของลักษณะพันธุ์ที่ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรและตลาดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร


ไฟล์แนบ
.pdf   39_2560.pdf (ขนาด: 16.48 MB / ดาวน์โหลด: 560)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม