การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว และผลกระทบต่อระบบการผลิตพืช
#1
การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว และผลกระทบต่อระบบการผลิตพืชและการผลิตพืชเศรษฐกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นฤทัย วรสถิตย์, ศุภชัย อติชาติ, แคทลิยา เอกอุ่น, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, ศศิธร ประพรม, ปรีชา แสงโสดา, จุฑามาส ศรีสำราญ, พิกุล ซุนพุ่ม, นิยม ไข่มุกข์, รพีพร ศรีสถิตย์, พสุ สกุลอารีวัฒนา, สุทธินันท์ ประสาธน์สุวรรณ์, ศิริลักษณ์ พุทธิวงศ์ และอุบล หินเธาว์
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชัยภูมิ, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสกลนคร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครพนม, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุดรธานี และศูนย์วิจัยพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชขอนแก่น

          วิเคราะห์ความเสี่ยงและหาพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 10 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เลย สกลนคร มุกดาหาร นครพนม หนองบัวลำภู หนองคาย และอุดรธานี โดยนำข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลัง 10 ปี ตั้งแต่ปี 2544 - 2553 มาวิเคราะห์ความแปรปรวนเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อภัยแล้งซึ่งมีผลกระทบต่อการผลิตพืชของเกษตรกร พบพื้นที่เสี่ยงดังนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอสมเด็จ อำเภอนาคู และอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดขอนแก่น อำเภอสีชมพู และอำเภอชุมแพ จังหวัดชัยภูมิ อำเภอภูเขียว และอำเภอคอนสาร จังหวัดเลย อำเภอผาขาว จังหวัดมุกดาหาร อำเภอดงหลวง จังหวัดสกลนคร อำเภอภูพาน จังหวัดนครพนม อำเภอเมือง และอำเภอท่าอุเทน จังหวัดหนองคาย อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองบัวลำภู อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดอุดรธานี อำเภอน้ำโสม และอำเภอบ้านดุง และจังหวัดบึงกาฬ ทีอำเภอบึงกาฬ จากนั้นทำการสำรวจข้อมูลการผลิตทางการเกษตร เศรษฐกิจ สังคม และการปรับตัวของครัวเรือนเกษตรกรในพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการผลิตทางการเกษตร ในพื้นที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของแต่ละจังหวัดๆ ละ 1 หมู่บ้าน โดยใช้ข้อมูลพื้นที่อ่อนไหวร่วมกับข้อมูลรายงานการประสบภัยพิบัติ ประกอบการตัดสินใจเลือกหมู่บ้าน แล้วเข้าไปสำรวจข้อมูลโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์โดยเน้นพืชที่เกษตรกรผลิตเป็นพืชเศรษฐกิจหลักในแต่ละพื้นที่ ได้แก่ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง พบว่ามี 7 จังหวัด ที่การผลิตพืชของเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนอีก 3 จังหวัด ไม่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากภัยแล้ง ยกเว้นที่จังหวัดนครพนมที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และสกลนครที่ประสบปัญหาทั้งภัยแล้งและวาตภัย เกษตรกรมีการปรับตัวโดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก หรือปลูกพืชหลายชนิดในพื้นที่ หรือทำการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง หรือปรับเทคโนโลยีการปลูกพืช เช่น การเลือกใช้พันธุ์พืช การใส่ปุ๋ยหรือใช้สารเคมีเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่รับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อม เช่น ความเสื่อมโทรมของดิน และป่าไม้ บางชุมชนจึงมีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชค่อนข้างมาก คือ สภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก หรือเปลี่ยนอาชีพเป็นการรับจ้าง หรือทำอาชีพเสริม

          ศึกษาและสำรวจการออกดอกติดผลของลิ้นจี่ในจังหวัดนครพนม พันธุ์ที่ปลูก คือ นครพนม 1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มพันธุ์เบา ออกดอกติดผลง่ายและให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์ที่ปลูกทางภาคเหนือ แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อการให้ผลผลิต ทำการทดลองในแปลงลิ้นจี่ของเกษตรกรระยะให้ผลผลิตแล้วในพื้นที่ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม จำนวน 6 แปลง ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม 2556 - กันยายน 2559 สุ่มนับจำนวนต้นที่ออกดอกติดผลจากต้นทั้งหมดในแต่ละแปลง และสุ่มนับผลหลังดอกบานจนถึงเก็บผลผลิต จำนวน 10 ช่อต่อต้น จำนวน 10 ต้นต่อแปลง พบว่าในแต่ละปีลิ้นจี่ออกดอกติดผลไม่พร้อมกัน โดยทยอยออกเป็น 3 - 4 รุ่น เหลื่อมกันประมาณ 1 สัปดาห์ จำนวนต้นที่ออกดอกและให้ผลผลิตรวมในปี 2557 2558 และ 2559 เฉลี่ย 98.5 71.4 และ 12.1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนต้นทั้งหมด ผลผลิตเฉลี่ย 1,763 711 และ 30 กิโลกรัมต่อไร่ น้ำหนักผลเฉลี่ยเท่ากับ 33.2 28.2 และ 17.9 กรัมต่อผล สภาพอากาศช่วงลิ้นจี่พักตัวและออกดอกในปี 2557 2558 และ 2559 มีความชื้นสัมพัทธ์ในช่วงออกดอกถึงติดผลต่ำสุด 46.2 44.4 และ 41.5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุด 92.9 90.7 และ 87.4 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 71.4 68.6 65.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนปริมาณน้ำฝนอยู่ระหว่าง 0 - 24.5, 0 - 50.0 และ 0 - 27.3 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกอยู่ระหว่าง 0 - 6, 0 - 9 และ 0-3 วัน ตามลำดับ สำหรับอุณหภูมิพบว่า อุณหภูมิต่ำสุดที่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส และภูมิเฉลี่ยต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ในปี 2557 และ 2558 ยาวนานต่อเนื่องกัน 14 และ 6 สัปดาห์ ส่วนปี 2559 นาน 0.5 สัปดาห์ ในฤดูกาลปกติ และ 2 สัปดาห์ ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนมกราคม - สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตและสภาพอากาศทั้ง 3 ปี พบว่าปี 2557 ลิ้นจี่ให้ผลผลิตสูงสุด โดยช่วงลิ้นจี่พักตัว ออกดอก และติดผล มีอุณหภูมิหนาวเย็นยาวนานที่สุดถึง 14 สัปดาห์ ความชื้นสัมพัทธ์สูงโดยเฉลี่ย 71.4 เปอร์เซ็นต์ และฝนตกน้อย สำหรับปี 2558 อุณหภูมิหนาวเย็นยาวนานปานกลาง คือ นาน 6 สัปดาห์ ลิ้นจี่ออกดอกติดผลบางส่วนคือ เฉพาะทรงพุ่มด้านที่ได้รับแสงแดดในตอนเช้าถึงเที่ยง ปริมาณฝนไม่มากแต่จำนวนวันที่ฝนตกติดต่อกันหลายวันช่วงดอกบานเต็มที่ทำให้ดอกร่วง ดอกเน่า และติดผลน้อย ในขณะที่ปี 2559 ลิ้นจี่ให้ผลผลิตน้อยมาก เพราะช่วงพักตัวออกดอกในฤดูกาลปกติระยะเวลาที่อุณหภูมิหนาวเย็นไม่เพียงพอต่อการกระตุ้นการออกดอก คือ ไม่ถึง 1 สัปดาห์ ลิ้นจี่จึงออกดอกน้อยมากเฉพาะบางกิ่ง แต่มีต้นลิ้นจี่บางส่วนแทงช่อดอกเมื่อได้รับอากาศหนาวเย็นช่วงปลายเดือนมกราคม ซึ่งหนาวเย็นยาวนานต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ แต่ดอกบานเดือนมีนาคม และติดผลช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายนซึ่งมีอุณหภูมิสูงและความชื้นสัมพัทธ์ต่ำทำให้ดอกร่วงมากจึงติดผลน้อย และผลเล็กลีบไม่ได้คุณภาพ

          ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีต่อการออกดอกและติดผลของมะม่วงฤดูกาลปกติ การออกดอกต้องผ่านช่วงแล้ง 45 - 60 วัน แทงช่อดอกจากยอดที่ใบแก่จัด ซึ่งต้องได้รับอุณหภูมิต่ำ 15 - 20 องศาเซลเซียส สะสม 5 วัน หรือแทงช่อดอกจากยอดใบอ่อน ต้องได้รับอุณหภูมิต่ำ 5 - 10 องศาเซลเซียส (ฉลองชัย, 2542) ซึ่งมะม่วงจากการศึกษาทั้ง 3 สายพันธุ์ จำแนกเป็น 2 กลุ่ม ตามการออกดอกและติดผล โดยสำนักคุ้มครองพันธุ์พืช (2544) ได้แก่ 1) กลุ่มน้ำดอกไม้ คือ พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 มีอายุการออกดอกจนเก็บเกี่ยว 100 วัน และ 2) กลุ่มอกร่อง คือ พันธุ์ช้างตกตึก และพันธุ์โชคอนันต์ มีอายุการออกดอกจนเก็บเกี่ยว 110 - 120 วัน

          ผลของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนมีผลต่อการพัฒนาการของดอกและผลมะม่วง การพัฒนาการของการออกดอกมะม่วง ต้องการอุณหภูมิต่ำชักนำการออกดอก ปี 2557/2558 อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส จึงสามารถชักนำให้เกิดการออกดอก ในช่วง 15 – 25 พฤศจิกายน 2557 และ 6 ธันวาคม – 15 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2558 ทำให้ระหว่างการแทงก้านชูช่อดอก มีการพัฒนาใบ ซึ่งการออกดอกและให้ผลผลิตของมะม่วงทั้ง 3 พันธุ์ ได้ผลดังนี้ คือ

          1) พันธุ์ช้างตกตึก เกษตรกรได้ตัดแต่งกิ่งเดือน พ.ค. 57 และดึงช่อดอกโดยใช้ สารไทโอยูเรียอัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร เมื่อเดือน ส.ค. - ก.ย.57 ดอกแรกบานปลายเดือน พ.ย. 57 เป็นต้นมา ทยอยออกดอก พ.ย – มี.ค. แต่การออกดอก เดือน ก.พ. – มี.ค. ดอกได้รับผลกระทบจากสภาพอุณหภูมิสูงและมีฝนตก ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกร่วง เริ่มเก็บเกี่ยว ก.พ. 58 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ 8 รุ่น
          2) พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เบอร์ 4 เกษตรกร 3 ราย ได้ตัดแต่งกิ่งเดือน มิ.ย. 57 และดึงช่อดอกโดยใช้ สารไทโอยูเรียอัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร เมื่อเดือน ส.ค. - ก.ย. 57 ดอกแรกบานปลายเดือน พ.ย. 57 เป็นต้นมา ทยอยออกดอก พ.ย. – มี.ค. แต่การออกดอก เดือน ก.พ. – มี.ค. ดอกได้รับผลกระทบจากสภาพอุณหภูมิสูงและมีฝนตก ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกร่วง และพบว่ามีการพัฒนาเป็นใบ 1 - 5 เปอร์เซ็นต์ เริ่มเก็บเกี่ยว ก.พ.58 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ 6 - 8 รุ่น
          3) พันธุ์โชคอนันต์ เกษตรกรตัดแต่งกิ่งเดือน พ.ค. 57 และดึงช่อดอกโดยใช้ สารไทโอยูเรียอัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร เมื่อเดือน ส.ค. - ก.ย.57 ดอกแรกบานปลายเดือน พ.ย. 57 เป็นต้นมา ทยอยออกดอก พ.ย. – มี.ค. แต่การออกดอก เดือน ก.พ. – มี.ค. ดอกได้รับผลกระทบจากสภาพอุณหภูมิสูงและมีฝนตก ทำให้ดอกร่วง ช่อดอกร่วง เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต ก.พ. 58 และสามารถเก็บเกี่ยวได้ 8 รุ่น

          จากการสำรวจการออกดอกของมะม่วงจังหวัดขอนแก่น ทำให้ทราบว่าแม้เกษตรกรจะมีการบังคับให้มะม่วงออกดอก แต่ความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม ได้แก่สภาพอุณหภูมิสูง และฝนตกช่วงออกดอก ทำให้ดอกร่วง และมีการพัฒนาเป็นใบ ซึ่งจะส่งผลให้ได้ผลผลิตลดลง

          ได้มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลดิน เริ่มจากการศึกษาวิเคราะห์ระบบการดำเนินงานของกลุ่มงานพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต วิเคราะห์ขั้นตอนการดำเนินงาน ความต้องการของเจ้าหน้าที่ และการจัดการข้อมูลผลการวิเคราะห์ดิน ซึ่งมีการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติทางเคมีของดิน เช่น ความเป็นกรด-ด่าง ค่า CEC และปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ธาตุอาหารต่างๆ เช่น S Fe K Ca Mg NH4 NO3 P Cu Zn และ Mn เป็นต้น มีการจัดเก็บข้อมูลในรูปไฟล์ ตาราง Excel และจัดพิมพ์รายงานผลในรูปแบบเอกสาร จากนั้นจึงได้ออกแบบตารางเก็บข้อมูลรายละเอียดตัวอย่างที่ส่งวิเคราะห์ ผู้ส่งตัวอย่าง สถานที่เก็บตัวอย่างและอื่นๆ แบบตารางมีความสัมพันธ์ และอยู่ในขั้นตอนการจัดทำหน้าต่าง การจัดการข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Access และแปลงข้อมูลจากระบบเก่าสู่ระบบฐานข้อมูลที่สร้างขึ้น


ไฟล์แนบ
.pdf   30_2559.pdf (ขนาด: 4.52 MB / ดาวน์โหลด: 1,219)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม