01-31-2017, 04:00 PM
การเปรียบเทียบมาตรฐาน : พันธุ์ฝ้ายเส้นใยสี (ชุดที่ 1)
ปริญญา สีบุญเรือง, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, สมใจ โค้วสุรัตน, พรพรรณ สุทธิแย้ม, ปรีชา แสงโสดา และพิกุล ซุนพุ่ม
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร
ปริญญา สีบุญเรือง, เพ็ญรัตน์ เทียมเพ็ง, สมใจ โค้วสุรัตน, พรพรรณ สุทธิแย้ม, ปรีชา แสงโสดา และพิกุล ซุนพุ่ม
ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์, ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์, ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี, ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร
การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงในการผลิตฝ้ายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แต่การใช้พันธุ์ฝ้าย (Gossypium hirsutum) ที่มีเส้นใยสีต่างๆ และมีลักษณะใบที่มีขน อีกทั้งฝ้ายพันธุ์พื้นเมือง (Gossypium arborium) จะสามารถทนทานต่อการเข้าทำลายของแมลงปากดูดโดยเฉพาะเพลี้ยจักจั่น และหนอนเจาะสมอฝ้ายเข้าทำลายน้อย นอกจากความทนทานต่อแมลงแล้ว พันธุ์ฝ้ายเหล่านั้นควรมีศักยภาพในการให้ผลผลิตอีกด้วย จึงจะสามารถใช้เป็นทางเลือกในการลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง ดังนั้นในปี 2556 จึงได้นำสายพันธุ์ฝ้ายที่มีลักษณะดังกล่าว ที่ได้รับการคัดเลือกจากขั้นตอนการเปรียบเทียบเบื้องต้นพันธุ์จำนวน 11 สายพันธุ์ มาทำการปลูกโดยมีพันธุ์ ตากฟ้า3 และตากฟ้า84-4 เป็นพันธุ์เปรียบเทียบ รวม 13 สายพันธุ์/พันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย มุกดาหาร เพื่อคัดเลือกให้ได้สายพันธุ์ฝ้าย ที่ให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพเส้นใยดี สำหรับการผลิตในสภาพลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB จำนวน 3 ซ้ำ สายพันธุ์ละ 4 แถวต่อแปลงย่อย แถวยาว 12 เมตร และมีระยะปลูก 1.50 x 0.50 เมตร ผลการทดลองจาก 3 สถานที่ (ยกเว้น ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ อุบลราชธานี และเชียงใหม่ พบว่าลักษณะผลผลิตมีความแตกต่างทางพันธุ์กรรมในแต่ละสภาพแวดล้อม ระหว่างสภาพแวดล้อม ตลอดจนมีปฏิกิริยาสัมพันธระหว่างพันธุ์กรรมกับสภาพแวดล้อม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมุกดาหาร ให้ผลผลิตเฉลี่ยของฝ้ายทุกสายพันธุ์สูงที่สุด คือ 131 กิโลกรัมต่อไร่ รองลงมาคือ ศูนย์วิจัยพืชไร่เพชรบูรณ์และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเลย ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 115 และ 87 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์ของความแปรปรวนอยู่ในช่วง 13.88 - 25.53% เมื่อพิจารณาผลผลิตจาก 3 สภาพแวดล้อม พบว่ามีเพียง 2 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ตรวจสอบตากฟ้า84-4 (125 กิโลกรัมต่อไร่) ร้อยละ 6 - 12 ได้แก่ สายพันธุ์ V1 และ P12Nan37M5 ที่ให้ ผลผลิต 141 และ 133 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ และมี 6 สายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์ตรวจสอบ ตากฟ้า3 (106 กิโลกรัมต่อไร่) ร้อยละ 8 - 33 ได้แก่ สายพันธุ์ V1 P12Nan37M5 C118(N) Nan15GY L3401/SR2 และพวงมะไฟ ที่ให้ผลผลิต 141 133 124 121 119 และ 115 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ สำหรับเปอร์เซ็นต์หีบและคุณภาพเส้นใยพบว่า ค่าเปอร์เซ็นต์หีบเฉลี่ยของทุกพันธุ์ 36.71 เปอร์เซ็นต์ ความยาวเส้นใยเฉลี่ย 1.01 นิ้ว ความเหนียวเส้นใยเฉลี่ย 16.3 กรัมต่อเท็กซ์ ความสม่ำเสมอเส้นใย 53% และความละเอียดอ่อนเส้นใย 4.3