การทดสอบเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวให้มีคุณภาพ
#1
การทดสอบเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวให้มีคุณภาพ
นรีลักษณ์ วรรณสาย, นิภาภรณ์ พรรณรา, กัณทิมา ทองศรี, สนอง บัวเกตุ และจิราลักษณ์ ภูมิไธสง 

          การประยุกต์ใช้เครื่องเกี่ยวนวดเก็บเกี่ยวถั่วเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ได้ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเกษตรกรบางพื้นที่มีการใช้สารเคมีพ่นให้ต้นแห้งและใบร่วงก่อนใช้เครื่องเก็บเกี่ยว แต่พบปัญหาผลผลิตถั่วเขียวที่ได้มีคุณภาพต่ำคือมีเมล็ดไม่สมบูรณ์และมีสิ่งเจือปนมาก การทดสอบเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวถั่วเขียวให้มีคุณภาพ จึงดำเนินการในฤดูฝนปี 2556 - 2557 ณ ไร่เกษตรกรอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเกษตรกรในเขตนี้ทำการปลูกถั่วเขียวช่วงต้นฤดูฝน หลังรื้อตออ้อยเพื่อปรับปรุงดินและเพิ่มรายได้ก่อนการปลูกอ้อยในฤดูต่อไป การทดสอบดำเนินการโดยการนำเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยในปี 2553 - 2555 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเมล็ดพันธุ์พืชพิษณุโลก คือการใช้สารพาราควอทอัตรา 100 กรัมสารออกฤทธิ์ต่อไร่ พ่นต้นถั่วเขียวที่ระยะฝักสุกแก่เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ และเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด 5 วันหลังพ่น มาทดสอบเปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกรที่มีการใช้สารพาราควอทเพียงอย่างเดียว หรือสารพาราควอทผสมกับ 2,4-ดี ซึ่งอัตราการใช้พาราควอทของเกษตรกรสูงกว่าอัตราแนะนำ 2.6-3.3 เท่า และเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวด 5 วันหลังพ่นเช่นเดียวกัน ผลการทดสอบพบว่า การใช้สารพาราควอทตามคำแนะนำ มีประสิทธิภาพทำให้ต้นถั่วเขียวใบร่วง ต้นแห้ง สามารถเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องเกี่ยวนวดไม่แตกต่างกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร และไม่พบความแตกต่างกันระหว่างวิธีแนะนำ และวิธีเกษตรกร ทั้งด้านผลผลิต และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ด้านความงอกและความแข็งแรง แต่การใช้สารเคมีพาราควอทอัตราที่เกษตรกรใช้ และสารเคมี 2,4-ดี มีปริมาณสารตกค้างสูงกว่าค่าสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ ดังนั้น ในแหล่งปลูกถั่วเขียวที่มีการใช้สารพ่นให้ต้นแห้งอยู่เดิม จึงควรแนะนำให้เกษตรกรปรับลดอัตราการใช้สารพาราควอทเท่ากับอัตราแนะนำ และไม่ควรผสมกับ 2,4-ดี ซึ่งจะทำให้ผลผลิตถั่วเขียวปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งการใช้เมล็ดถั่วเขียวเพื่อบริโภค และใช้เป็นเมล็ดพันธุ์


ไฟล์แนบ
.pdf   101_2557.pdf (ขนาด: 159 KB / ดาวน์โหลด: 774)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม