12-02-2016, 12:40 PM
ศึกษาเพื่อร่างหลักเกณฑ์การตรวจสอบพันธุ์พืชที่มีศักยภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542
วาสนา มั่งคั่ง, ธิดากุญ แสนอุดม, รุ่งทิวา ธนาธาตุ, ป่าน ปานขาว, วราภรณ์ ทองพันธ์, ณัฐวุฒิ กฤษสมัคร, ยุวลักษณ์ ผายดี, อรทัย วงศ์เมธา และพีชณิดา ธารานุกูล
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง
วาสนา มั่งคั่ง, ธิดากุญ แสนอุดม, รุ่งทิวา ธนาธาตุ, ป่าน ปานขาว, วราภรณ์ ทองพันธ์, ณัฐวุฒิ กฤษสมัคร, ยุวลักษณ์ ผายดี, อรทัย วงศ์เมธา และพีชณิดา ธารานุกูล
สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง
พืชที่มีศักยภาพ 5 ชนิด ได้แก่ ไผ่ กะหล่ำปลี ผักกาดหัว มันเทศ และเบญจมาศ เป็นชนิดพืชที่ยังไม่ถูกกำหนดให้เป็นชนิดพืชที่จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 การวิจัยครั้งนี้จึงศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ ทางพฤกษศาสตร์ ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ทั้งในและต่างประเทศ ความหลากหลาย การใช้ประโยชน์และการกระจายพันธุ์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิด ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลพืชทั้ง 5 ชนิด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานด้านการคุ้มครองพันธุ์พืช และเตรียมความพร้อมสำหรับการประกาศกำหนดชนิดพืชให้เป็นพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองต่อไป ซึ่งการศึกษาวิจัยครั้งนี้คณะผู้วิจัยได้ศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ของพืชทั้ง 5 ชนิด โดยร่วมกับนักวิจัยของศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดพิจิตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง มูลนิธิโครงการหลวง องค์การสวนพฤกษศาสตร์สิริกิติ์ ทัณฑสถานเปิดปราจีนบุรี ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกไผ่ กะหล่ำปลี เบญจมาศ เพื่อการค้า โดยปลูกทดสอบพืชทั้ง 5 ชนิด เพื่อศึกษาลักษณะประจำพันธุ์ที่สถานที่ดังกล่าว และได้ลักษณะประจำพันธุ์เพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์การตรวจสอบพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิด ที่ใช้ในการจำแนกความแตกต่างระหว่างพันธุ์ ได้แก่ ไผ่ จำนวน 56 ลักษณะ กะหล่ำปลี จำนวน 32 ลักษณะ ผักกาดหัว จำนวน 28 ลักษณะ มันเทศ จำนวน 29 ลักษณะ และเบญจมาศ จำนวน 82 ลักษณะจากนั้น นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิด โดย ที่ประชุมประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ นักปรับปรุงพันธุ์พืช และผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันพิจารณารายละเอียดในร่างหลักเกณฑ์การตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิด จนกระทั่งได้หลักเกณฑ์การตรวจสอบลักษณะประจำพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิด ที่นำไปทดลองบันทึกข้อมูลในภาคสนาม ปรับปรุงจนสามารถนำไปใช้ในการจำแนกพันธุ์ พืชทั้ง 5 ชนิด และจัดทำคู่มือบันทึกลักษณะประจำพันธุ์พืชทั้ง 5 ชนิด ชนิดละ 1 คู่มือ