ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความรุนแรงของโรคหลังการเก็บเกี่ยวและสารพิษ
#1
ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความรุนแรงของโรคหลังการเก็บเกี่ยวและสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตร
เนตรา สมบูรณ์แก้ว, รัมม์พัน โกศลานันท์, ศุภรา อัคคะสาระกุล, สุพี วนศิรากุล และชุติมา วิธูรจิตต์

          การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ปริมาณน้ำฟ้าที่มากกว่าปกติ ความแห้งแล้ง และการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในบรรยากาศ ส่งผลกระทบต่อการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราในผลิตผลเกษตรและอาหาร การศึกษานี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของระดับอุณหภูมิ ปริมาณน้ำอิสระ ความชื้น ปริมาณ CO2 และปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยข้างต้นต่อการเจริญและผลิตสารพิษของเชื้อรา Aspergillus niger, A. flavus และ Fusarium moniliforme ในอาหารเลี้ยงเชื้อ (in vitro) และในผลิตผลเกษตร ได้แก่ เมล็ดกาแฟดิบ เมล็ดถั่วลิสง และเมล็ดข้าวโพด ตามลำดับ การศึกษาในอาหารเลี้ยงเชื้อพบว่าการเปลี่ยนแปลงระดับอุณหภูมิ ปริมาณน้ำอิสระ และปฏิสัมพันธ์ร่วมระหว่างอุณหภูมิและปริมาณน้ำอิสระมีอิทธิพลต่อการเจริญของเชื้อราทั้งสามชนิด ขณะที่การเพิ่มขึ้นของ CO2 ไม่มีผลต่อการเจริญของเชื้อราทั้งสามชนิด อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และปริมาณ CO2 ทำให้เชื้อรา A. niger A. flavus และ F. moniliforme ผลิตสารโอคราทอกซิน เอ สารแอฟลาทอกซิน บี1 และสารฟูโมนิซิน (ตามลำดับ) ได้ในปริมาณที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปริมาณก๊าซ CO2 ที่สูงขึ้นจากระดับ 300 เป็น 1,000 พีพีเอ็ม ทำให้มีปริมาณสารพิษทั้งสามชนิดปนเปื้อนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบทั้งในการศึกษาในอาหารเลี้ยงเชื้อและในผลิตผลเกษตร ผลการศึกษานี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับการศึกษาเชิงลึกต่อไป นอกจากนี้ได้ศึกษาผลกระทบของอุณหภูมิต่อการเกิดโรคดอกจุดสนิมในกล้วยไม้สกุลหวายตัดดอก โดยศึกษาข้อมูลเบื้องต้นในแหล่งปลูกกล้วยไม้สกุลหวายเพื่อการส่งออก 3 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี จำนวน 6 แปลง ระหว่างมกราคม - สิงหาคม 2557 พบว่าอุณหภูมิในแปลงปลูกอยู่ระหว่าง 29.7 - 35.9 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอยู่ระหว่าง 41.30 - 61.70 ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ 7.05 - 7.45 และเมื่อสุ่มเก็บดอกกล้วยไม้ 100 ช่อต่อแปลง มาจำแนกเชื้อราสาเหตุโรคดอกจุดสนิม พบเชื้อรา Curvularia eragrostidis มากที่สุดของกลีบดอกและก้านดอกจากแปลงปลูกในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครปฐม คิดเป็นร้อยละ 33.33 ทดสอบอุณหภูมิต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา C. eragrostidis  บนอาหาร PDA ที่อุณหภูมิ 5 15 25 35 และ 45 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 14 วัน พบว่าที่อุณหภูมิ 25 15 35 5 และ 45 องศาเซลเซียส เชื้อ C. eragrostidis มีการเจริญเติบโต 8.10 3.68 0.87 0.63 และ 0 เซนติเมตร ตามลำดับ ทดสอบอุณหภูมิการเก็บรักษาต่อความรุนแรงการเกิดโรคดอกจุดสนิมกล้วยไม้สกุลหวาย 2 กรรมวิธี คือ ทำแผลบนดอก และไม่ทำแผล เก็บที่อุณหภูมิ 5 15 25 35 และ 30 องศาเซลเซียส (ชุดควบคุม) เป็นเวลา 7 และ 14 วัน พบว่ากรรมวิธีทำแผลที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส เกิดโรคดอกจุดสนิมมากที่สุดร้อยละ 81.73 ในขณะชุดควบคุมเกิดโรคร้อยละ 50.47 ส่วนกรรมวิธีไม่ทำแผลที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เกิดโรคดอกจุดสนิมมากที่สุดร้อยละ 29.40 ชุดควบคุมเกิดโรคร้อยละ 20.20 ทดสอบการควบคุมโรคดอกจุดสนิมด้วยน้ำอุณหภูมิ 25 35 45 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิห้อง (ชุดควบคุม) โดยนำช่อกล้วยไม้สกุลหวายที่มีดอกบาน 3 ใน 4 ของช่อดอกมาพ่นสปอร์เชื้อรา C. eragrostidis ความเข้มข้น 10(5) โคโลนีต่อมิลลิลิตร บ่มอุณหภูมิห้องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แช่ช่อดอกกล้วยไม้ในน้ำอุณหภูมิต่างๆ ข้างต้น 4 นาทีและนำขึ้นแช่น้ำกลั่นทันที ผึ่งให้แห้งเก็บที่อุณหภูมิ 14 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10 วัน พบว่าดอกกล้วยไม้ที่แช่น้ำอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เกิดโรคดอกจุดสนิมน้อยที่สุดร้อยละ 2.34 ชุดควบคุมเกิดโรคร้อยละ 3.44


ไฟล์แนบ
.pdf   172_2558.pdf (ขนาด: 3.07 MB / ดาวน์โหลด: 7,600)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม