11-29-2016, 09:51 AM
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน
สมคิด ดำน้อย, อนงค์นาฏ พรหมทสาร, อุดมพร เสือมาก, วิริยา ประจิมพันธ์, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, พงษ์มานิตย์ ไทยแท้, วรรณณา อุปถัมย์ และอรสิรี ดำน้อย
สมคิด ดำน้อย, อนงค์นาฏ พรหมทสาร, อุดมพร เสือมาก, วิริยา ประจิมพันธ์, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, พงษ์มานิตย์ ไทยแท้, วรรณณา อุปถัมย์ และอรสิรี ดำน้อย
จันทน์เทศ เป็นพืชท้องถิ่นของภาคใต้ที่มีแนวโน้มจะสูญหายไปจากท้องถิ่น แม้จะมีการกล่าวถึงประโยชน์ในด้านต่างๆ มากมาย แต่เนื่องจากการพัฒนาและขยายตัวของพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ ทำให้พืชท้องถิ่นกลายเป็นพืชที่ถูกมองข้าม ทำให้ขาดทั้งข้อมูลพื้นฐาน และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ซึ่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจันทน์เทศ โดยการสำรวจ ศึกษาเชื้อพันธุกรรมเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ของจันทน์เทศในการพัฒนาการปลูก เทคโนโลยีการผลิต ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ดำเนินการทั้งในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ จังหวัดกระบี่ และแหล่งผลิตจันทน์เทศที่สำคัญของพื้นที่ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และพังงา ตั้งแต่ปี พ.ศ 2554 ถึงปี พ.ศ. 2558 จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลการปลูกจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนพบว่า การปลูกจันทน์เทศเป็นสวนผสมผสานขนาดเล็กปะปนกับไม้ผลอื่นๆ ในหลายพื้นที่ ตั้งแต่ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี และตำบลแหลมทราย อำเภอหลังสวน ของจังหวัดชุมพร และในพื้นที่ตำบลถ้ำน้ำผุด อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ขณะที่จังหวัดกระบี่มีการปลูกจันทน์เทศภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่เท่านั้น จึงทำการบันทึกข้อมูลจำนวนต้น/พื้นที่ปลูก พร้อมพิกัดตำแหน่งจีพีเอส จัดทำเป็นแผนที่การกระจายตัวของการปลูกจันทน์เทศในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และทำการศึกษาลักษณะพันธุ์จันทน์เทศ โดยใช้ลักษณะภายนอกของผลจันทน์เทศ (ผล รก และเมล็ด) บันทึกข้อมูลลักษณะของผลจันทน์เทศของแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นพื้นมูลพื้นฐาน และใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกสายต้นจันทน์เทศสำหรับปลูกในแปลงเปรียบเทียบพันธุ์จันทน์เทศ ที่สามารถคัดเลือกได้ทั้งหมด 7 สายต้น ได้แก่ กระบี่1 กระบี่2 ชุมพร1 ชุมพร2 นครศรีธรรมราช1 นครศรีธรรมราช2 และพังงา1 หลังจากปลูกทดสอบไปแล้ว 3 ปี ปรากฏว่า ต้นจันทน์เทศชุมพร1 มีการเจริญเติบโตทั้งด้านขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้น และด้านความสูงของลำต้นมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.16 เซนติเมตร และ 106.60 เซนติเมตร ตามลำดับ ส่วนการศึกษาการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของต้นจันทน์เทศในรอบปีที่จังหวัดกระบี่ (ภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันตก) และจังหวัดชุมพร (ภาคใต้ฝั่งทะเลตะวันออก) ศึกษาด้านการแตกใบ การออกดอก และการติดผลเบื้องต้น พบว่าการแตกใบและการออกดอกสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝน ซึ่งการแตกใบอ่อนและการออกดอกของจันทน์เทศที่จังหวัดกระบี่มีรูปแบบและค่อนข้างสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝนโดยตรงมากกว่าต้นจันทน์เทศของจังหวัดชุมพร สำหรับการศึกษาสภาพการผลิตจันทน์เทศในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนบนที่เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ รวบรวมข้อมูลในเขตจังหวัดพังงา ชุมพร และนครศรีธรรมราช พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่อายุน้อยกว่า 51 ปี และประกอบอาชีพเกษตรกร มีรายได้จากการผลิตจันทน์เทศ 30,001 - 40,000 บาทต่อปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่มีสภาพพื้นที่เป็นที่เชิงเขา ลักษณะเนื้อดินเป็นดินเหนียวปนทราย การปลูกจันทน์เทศจะปลูกเป็นพืชผสมผสานในทุกจังหวัด และอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ต้นจันทน์เทศมีอายุระหว่าง 11 - 20 ปี และให้ผลผลิตมาแล้ว 6 - 10 ปี การจัดการสวนมีการกำจัดวัชพืชแต่ไม่มีการใส่ปุ๋ยเคมี ด้านผลผลิตใช้การจ้างแรงงานในการเก็บผลผลิต จำหน่ายผลผลิตโดยอาศัยพ่อค้าคนกลาง ส่วนใหญ่จำหน่ายผลผลิตในรูปของผลสด และไม่นิยมแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์