11-28-2016, 05:17 PM
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร
ศรุต สุทธิอารมณ์, พรพิมล อธิปัญญาคม, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ, วนาพร วงษ์นิคง, สัญญาณี ศรีคชา, วิภาดา ปลอดครบุรี, ชนินทร ดวงสอาด, สุเมธ พากเพียร, บุษบง มนัสมั่นคง และศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา
ศรุต สุทธิอารมณ์, พรพิมล อธิปัญญาคม, สุณีรัตน์ สีมะเดื่อ, วนาพร วงษ์นิคง, สัญญาณี ศรีคชา, วิภาดา ปลอดครบุรี, ชนินทร ดวงสอาด, สุเมธ พากเพียร, บุษบง มนัสมั่นคง และศรีจำนรรจ์ ศรีจันทรา
โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแก้วมังกร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาศัตรูพืชที่สำคัญของแก้วมังกรซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่สำคัญของภาคตะวันออก การศึกษานี้มุ่งเน้นที่จะหาวิธีการป้องกันกำจัดที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมเพื่อแนะนำให้เกษตรกรนำไปใช้ ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ การป้องกันกำจัดแมลงศัตรูสำคัญในแก้วมังกร และการป้องกันกำจัดโรคสำคัญในแก้วมังกร ดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ถึงเดือนกันยายน 2558 ทั้งในห้องปฏิบัติการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช และในสภาพไร่ของเกษตรกร การศึกษาปริมาณความหนาแน่นและช่วงฤดูการระบาดของแมลงวันผลไม้ในแก้วมังกรพบแมลงวันผลไม้ที่ดักจับได้ในแปลงปลูกแก้วมังกรทั้งหมด 5 ชนิด คือ Bactrocera dorsalis, Bactrocera correcta, Bactrocera cucurbitae, Bactrocera umbrosa และ Bactrocera tau ชนิดที่พบมากที่สุดคือ Bactrocera dorsalis ซึ่งเป็นชนิดเดียวที่เข้าทำลายผลแก้วมังกร การศึกษาวิธีป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ ได้ทำการศึกษาเทคโนโลยีการห่อผลเพื่อป้องกันการทำลายของแมลงวันผลไม้พบว่า ถุงห่อผลที่ทำจากวัสดุชนิดต่างๆ ได้แก่ ถุงพลาสติก ถุงเคลือบสารเคมี ถุงใยสังเคราะห์ ถุงกระดาษสีน้ำตาล ถุงผ้าไนล่อน และถุงห่อผลไม้สำเร็จรูป “ซุนฟง” ให้ผลในการป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรูผลแก้วมังกรได้ 100% และไม่มีผลต่อคุณภาพของผลแก้วมังกรทั้งขนาด น้ำหนัก รูปทรง และสีของผล และพบว่าการห่อผลเพียงอย่างเดียวและร่วมกับการใช้สารฆ่าแมลงที่ 14 วัน ให้ผลในการป้องกันแมลงทำลายผลแก้วมังกร 100% เทคโนโลยีการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูแก้วมังกรที่สำคัญ โดยการทดสอบประสิทธิภาพสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง (Dysmiscoccus neobrevipes Beardsley) ซึ่งเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของแก้วมังกร พบว่าสารกำจัดแมลง thiamethoxam 25%WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร dinotefuran 10%WP อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbaryl 85%WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร carbosulfan 20%EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร และ imidacloprid 70%WG 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ผลในการควบคุมเพลี้ยแป้งได้ดีไม่แตกต่างกัน และพบว่ามีพิษตกค้างในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ยกเว้นสาร carbaryl 85%WP
การศึกษาโรคของแก้วมังกรพบสาเหตุที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ โรคแอนแทรคโนส ราเข้าทำลายที่ลำต้นและที่ผล สาเหตุเกิดจากราสกุล Colletotrichum 2 ชนิด ได้แก่ Colletotrichum gloeosporioides และ C. truncatum โรคผลเน่าสาเหตุเกิดจากรา Bipolaris cactivora เข้าทำลายทั้งลำต้นและผล และโรคที่สำคัญอีกโรคหนึ่งและทำความเสียหายรุนแรงมาก ได้แก่ โรคจุดสีน้ำตาล (Brown spot) หรือโรคลำต้นแคงเคอร์ (stem canker) สาเหตุเกิดจากรา Neoscytalidium dimidiatum ส่วนการทดลองประสิทธิภาพสารป้องกันกำจัดโรคพืชควบคุมโรคจุดสีน้ำตาลของแก้วมังกร ดำเนินการทดลองในแปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ระหว่างปี 2555 – 2556 พบว่า สารป้องกันกำจัดโรคพืช prochoraz และ azoxystrobin + difenoconazole ให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีที่สุด รองลงมาได้แก่ mancozeb carbendazim azoxystrobin และ benomyl ในปี 2557 - 2558 ผลการศึกษาประสิทธิภาพโรคผลเน่าของแก้วมังกรที่แปลงเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี พบว่าเมื่อพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช 7 ครั้ง พบว่าสารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin + difenoconazole มีเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคน้อยที่สุด รองลงมา ได้แก่ propiconazole + difenoconazole, mancozeb และ procloraz สรุปการป้องกันกำจัดโรคลำต้นจุดสีน้ำตาลและผลเน่าของแก้วมังกร หลังจากการเก็บผลผลิตและตัดแต่งกิ่งแล้ว ให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช copper oxychloride จากนั้นให้พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช azoxystrobin + difenoconazole หรือ propiconazole + difenoconazole หรือ procloraz หรือ mancozeb ทุก 7 วัน จำนวน 4 ครั้ง และพ่นอีก 3 ครั้งช่วงดอกบานห่างกัน 7 วัน