โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตบัวเข็มอย่างมีคุณภาพ
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตบัวเข็มอย่างมีคุณภาพ
เกตุวดี สุขสันติมาศ, ดิเรก ตนพยอม, เยาวภา เต้าชัยภูมิ, ชัยณรงค์ จันทร์แสนตอ, จิตอาภา จิจุบาล, อารีรัตน์ พระเพชร, วิภาวรรณ ดวนมีสุข, ธัญพร งามงอน และวราพงษ์ ภิระบรรณ์

          บัวเข็ม (Smithatris myanmarensis) จัดเป็นพืชใน Genus Smithatris เป็นพืชชนิดใหม่ มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเมือง Taunggyi พื้นที่ลาดเอียงทางตะวันตกของ Shan Hills ในประเทศพม่า และแถบภาคตะวันตกของประเทศไทย ปัญหาคือ ขาดเทคโนโลยีในการผลิตเพื่อการค้า เช่น การใส่ปุ๋ย วัสดุปลูก การพรางแสง ระยะปลูก ขนาดหัวพันธุ์ตลอดจนการผลิตนอกฤดู โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตบัวเข็มอย่างมีคุณภาพ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2554 จนถึงเดือนกันยายนปี 2558 ที่ จ.พิจิตร จ.สุโขทัย จ.พิษณุโลก และจ.เพชรบูรณ์ ผลการดำเนินการวิจัยการทดสอบปุ๋ย 5 อัตรา เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ พบว่าการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 10 กรัมต่อหลุม รองพื้นก่อนปลูกโดยใช้ดิน แกลบดิบ แกลบดำ และมูลวัว ในอัตรา 1 ส่วนเท่ากันเป็นวัสดุปลูกก็เพียงพอต่อการผลิตดอก หากต้องการผลิตเพื่อใช้หัวพันธุ์ควรเพิ่มธาตุอาหารในวัสดุปลูกด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 5 - 20 กรัม/กอ ในช่วงออกดอกและสะสมอาหาร เนื่องจากจะช่วยให้มีการสะสมอาหารไว้ในเหง้าและตุ้มรากมากขึ้น ทำให้เหง้ามีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ซึ่งจะให้ดอกที่มีคุณภาพสูง และตาข่ายพลาสติกพรางแสงที่เหมาะสมในการปลูกบัวเข็ม คือ สามารถพรางแสงได้ 50 - 70% ไม่ควรเกินกว่านี้เพราะทำให้ผลผลิตลดลง การศึกษาวัสดุปลูก 6 กรรมวิธี เพื่อหาอัตราส่วนของวัสดุปลูกที่เหมาะสมในการผลิตหัวพันธุ์พบว่า วัสดุปลูกที่เหมาะสมในการผลิตหัวพันธุ์บัวเข็มมากที่สุด คือ แกลบดิบ : แกลบดำ : มูลวัว สัดส่วน 2:1:1 รองลงมา คือ ดิน : แกลบดิบ : มูลวัว สัดส่วน 1:1:1 การใช้ดินเพียงอย่างเดียวปลูกบัวเข็มไม่เหมาะสมในการผลิตหัวพันธุ์ นอกจากจะให้ผลผลิตต่ำแล้วเมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์ยังจัดการได้ยากอีกด้วย เพราะดินจะเกาะตัวแน่นกับหัวพันธุ์ทำให้เวลาเก็บเกี่ยวหัวพันธุ์หักเกิดความเสียหายเป็นช่องทางของเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย การเก็บรักษาหัวพันธุ์ที่มีผลต่อการงอกและการเจริญเติบโตของบัวเข็มเพื่อผลิตนอกฤดูพบว่า หัวพันธุ์ที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 ± 2 องศาเซลเซียส และนำออกปลูกทุก 2 4 6 และ 8 เดือน หัวพันธุ์ที่ผ่านการเก็บรักษา 6 เดือน ใช้เวลาในการงอกเฉลี่ยต่ำสุด 19 วัน ส่วนการเก็บรักษาหัวพันธุ์ 8 เดือน ใช้เวลาในการงอกนานถึง 29 วัน ในด้านเปอร์เซ็นต์การงอก หัวพันธุ์บัวเข็มที่ผ่านการเก็บรักษา 6 เดือน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกเฉลี่ยสูงสุด 92.7% ส่วนการเก็บรักษาหัวพันธุ์ 4 เดือน มีเปอร์เซ็นต์ความงอกต่ำสุด 82.1% อายุการเก็บรักษาหัวพันธุ์ที่นานขึ้นเมื่อนำออกปลูก จะส่งผลต่อการเจริญเติบโต คือ บัวเข็มจะมีการเจริญเติบโตลดลง มีอายุการตัดดอกแรกที่นานขึ้น ตลอดจนขนาดของช่อดอกจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับหัวพันธุ์ที่ไม่ผ่านการเก็บรักษา การศึกษาระยะปลูกในโรงเรือน 3 ระยะปลูก ได้แก่ 30x30 40x40 และ 50x50 ซม. เพื่อเพิ่มผลผลิตของหัวพันธุ์บัวเข็มเชิงพาณิชย์พบว่า การใช้ระยะปลูก 50 x 50 ซม. ทำให้มีจำนวนหัวพันธุ์ จำนวนตุ้มสะสมอาหารต่อกอเพิ่มมากขึ้น หัวพันธุ์มีขนาดใหญ่ขึ้น และทำให้มีจำนวนกลีบดอก จำนวนดอกต่อกอเฉลี่ยมากที่สุด การเจริญเติบโต ได้แก่ ความสูง ความกว้างลำต้น ความกว้างใบ มีความสัมพันธ์กับระยะปลูก คือ เมื่อปลูกถี่บัวเข็มต้นจะสูงกว่าการใช้ระยะปลูกที่เพิ่มขึ้น นอกจากระยะปลูกแล้วสิ่งจำเป็นที่ต้องคำนึงถึง คือ การพรางแสงเนื่องจากบัวเข็มเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในป่าค่อนข้างทึบและชื้น ไม่สามารถเจริญเติบโตในสภาพกลางแจ้งได้ การศึกษาขนาดหัวพันธุ์บัวเข็มที่ใช้ในการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยกำหนดความยาวของหัวพันธุ์ 5 ระดับ ได้แก่ หัวพันธุ์มีความยาว 3 5 7 9 และ 11 ซม. ผลการทดลองพบว่า บัวเข็มสามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตคุณภาพของดอกและคุณภาพหัวพันธุ์ไม่แตกต่างกันมากนัก หัวพันธุ์ที่มีความยาว 9 ซม. มีแนวโน้มในการให้จำนวนต้นต่อกอ การเจริญเติบโต และจำนวนดอกต่อกอสูงที่สุด รวมถึงคุณภาพของดอก รองลงมา คือ หัวพันธุ์ที่มีความยาว 7 ซม. และ 5 ซม. แต่ขนาดแง่งบัวเข็มที่นำมาใช้เป็นหัวพันธุ์สำหรับขยายพันธุ์มีความยาวเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5.87 – 7.60 ซม. ทำให้หาหัวพันธุ์ที่มีความยาว 9 เซนติเมตรได้ค่อนข้างยาก หากต้องการพัฒนาเป็นไม้กระถางและสามารถหาหัวพันธุ์ได้ง่ายควรเลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีความยาว 5 - 7 ซม.


ไฟล์แนบ
.pdf   147_2558.pdf (ขนาด: 3.08 MB / ดาวน์โหลด: 1,160)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม