ศึกษาการใช้ปัจจัยการผลิตและผลตอบแทนต่อหน่วยในระบบการผลิตพืชสวน
#1
ศึกษาการใช้ปัจจัยการผลิตและผลตอบแทนต่อหน่วยในระบบการผลิตพืชสวน
อุทัยวรรณ ทรัพย์แก้ว, วิลาวัณย์ ใคร่ครวญ, เกษมศักดิ์ ผลากร และสุภาภรณ์ สาชาติ
สถาบันวิจัยพืชสวน

          ปัจจัยการผลิตและการจัดการเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการลงทุนนับเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ผลิตต้องมีข้อมูลก่อนการตัดสินใจที่จะผลิตสินค้าใดๆ โดยเฉพาะในการผลิตพืชสวน ที่มีต้นทุนการผลิตสูง ซึ่งสำหรับไม้ผลที่มีช่วงอายุการผลิตยาวนาน และการปฏิบัติดูแลรักษาที่แตกต่างกันนั้นย่อมมีการใช้ปัจจัยการผลิตที่แตกต่างเช่นกัน และพบว่าไม้ผลในจังหวัดนครปฐม โดยเฉพาะในอำเภอสามพราน และอำเภอนครชัยศรี นั้นมีคุณภาพผลไม้ที่ได้มาตฐาน และเกษตรกรมีทักษะในการผลิตไม้ผลเป็นอย่างดี จึงได้ทำการศึกษากระบวนการผลิต และการใช้ปัจจัยการผลิต รวมถึงผลตอบแทนในระบบการผลิตไม้ผล ได้แก่ ส้มโอ ชมพู่ ฝรั่ง และมะนาว ในพื้นที่อำเภอสามพราน และนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมีการศึกษาเชิงสำรวจ (Exploration Research) และเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ได้แก่ ข้อมูลทั่วไปของเกษตรกร รูปแบบการใช้ปัจจัยการผลิต การดูแลรักษาของไม้ผลในแต่ละช่วงในการผลิต รวมถึงปัญหาและอุปสรรค นำข้อมูลมาวิเคราะห์สถิติ คือ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และวิเคราะห์การใช้ปัจจัยการผลิตและผลตอบแทนต่อการลงทุน

          ผลการศึกษาพบว่า ได้ทำการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ จำนวน 65 ราย เกษตรกรผู้ปลูกฝรั่ง จำนวน 38 ราย เกษตรกรผู้ปลูกชมพู่ จำนวน 46 ราย และเกษตรกรผู้ปลูกมะนาว จำนวน 15 ราย พื้นที่ปลูกไม้ผลเป็นพื้นที่ลุ่ม ดินเหนียว ปลูกแบบยกร่องสวน อาศัยน้ำจากแหล่งธรรมชาติซึ่งพบว่า ต้นทุนการใช้ปัจจัยการผลิตส้มโอ ชมพู่ ฝรั่ง และมะนาว ในช่วงที่ยังไม่สามารถให้ผลผลิตของปีแรก เกษตรกรมีต้นทุนการผลิต 51,257 บาท 33,566 บาท 38,106 บาท และ 41,640 บาท ต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ และในปีที่ 2 ขึ้นไปมีต้นทุนการผลิต 38,288 บาท 19,712 บาท 20,777 บาท และ 22,879 บาท ต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งเป็นต้นทุนผันแปรรวมกับต้นทุนคงที่ และเมื่อนำมาวิเคราะห์อัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุน (Return On Investment: ROI) แสดงให้เห็นว่าถึงแม้เกษตรกรจะต้องลงทุนในการผลิตไม้ผลในช่วงที่ยังไม่สามารถให้ผลผลิตนั้นเมื่อถึงช่วงผลไม้ให้ผลผลิตเต็มที่ได้แล้วพบว่า ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินลงทุนของการผลิตส้มโอ ชมพู่ ฝรั่ง และมะนาว 209.98 160.04 74.49 และ 31.57% ตามลำดับ จึงแสดงให้เห็นว่าการลงทุนผลิตส้มโอ ชมพู่ นั้นมีความคุ้มค่าในการลงทุนสูงอย่างยิ่ง สำหรับฝรั่ง และมะนาว นั้นมีความคุ้มค่าในการลงทุนแต่ไม่มากเมื่อเทียบกับผลไม้ชนิดอื่น


ไฟล์แนบ
.pdf   137_2558.pdf (ขนาด: 1.18 MB / ดาวน์โหลด: 3,594)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม