การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพและการกระจายการผลิต
#1
การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพและการกระจายการผลิต
ศิริพร วรกุลดำรงชัย, อรวินทินี ชูศรี, ชมภู จันที, เทิดพงศ์ สุทธิอาภาพงศ์, อุษา สิทธิฤทธิ์, วีรญา เต็มปีติกุล, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, ภิรมย์ ขุนจันทึก, จิตติลักษณ์ เหมะ, อัจฉรา ศรีทองคำ, ธิติยา สารพัฒน์, มาลัยพร เชื้อบัณฑิต, พจนา ตระกูลสุขรัตน์, บงกช ยอทำนบ และเพลินพิศ สงสังข์

การออกแบบสวนทุเรียนเพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพ
ศิริพร วรกุลดำรงชัย, อรวินทินี ชูศรี, วีรญา เต็มปีติกุล, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, ชมภู จันที, เทิดพงศ์ สุทธิอาภาพงศ์, อุษา สิทธิฤทธิ์ และภิรมย์ ขุนจันทึก

          ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการออกแบบสวนทุเรียน เพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพอย่าง ตั้งแต่ปี 2549 - 2558 เพื่อพัฒนารูปแบบสวนทุเรียน และทรงต้นทุเรียนที่เหมาะสมสำหรับใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ง่ายต่อการปฏิบัติงานภายในสวน เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน ให้ผลตอบแทนสูงต่อพื้นที่ และต้นทุนการผลิตต่ำลง ไม่มีการวางแผนการทดลอง เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกรรมวิธีด้วย t-Test เป็นการศึกษาการจัดทรงต้น และการควบคุมความสูงทุเรียนด้วยการใช้วิธีการจัดการต่างๆ ร่วมกันในระยะปลูกชิด ได้แก่ การใช้ต้นกล้าทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มาจากการขยายพันธุ์โดยวิธีการเสียบยอดที่มาจากกิ่งยอดและกิ่งข้าง ปลูกเป็นแถว จัดทรงต้นเป็นรูปแบบ Oblique Palmette ระยะปลูก 13 x 3 เมตร ตัดแต่งทรงพุ่มเป็นรูปทรงครึ่งวงกลม และสี่เหลี่ยม จำนวนกิ่ง 10 - 12 กิ่งต่อต้น ความสูง 5 เมตร และความกว้าง 10 เมตร คิดเป็นจำนวน 42 ต้นต่อไร่ ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุเรียนมีการตอบสนองที่ดีต่อการจัดทรงต้นและการตัดแต่งทรงพุ่ม จึงควรเริ่มทำการจัดทรงต้นตั้งแต่ต้นอายุ 6 เดือน และตัดแต่งกิ่งทุก 3 เดือน จะทำให้ต้นทุเรียนมีการเจริญด้านกิ่งก้านสาขาอย่างรวดเร็ว โดยมีความสูงที่ 5 เมตรเมื่อต้นมีอายุ 4 ปี และมีการเจริญด้านการเจริญพันธุ์เร็วขึ้น ต้นทุเรียนจึงสามารถออกดอกได้ในกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไปเมื่อต้นมีอายุเพียง 2.5 ปีเท่านั้น แต่ควรให้ต้นทุเรียนเริ่มไว้ผลผลิตเป็นปีแรกเมื่อต้นอายุ 4 ปีขึ้นไป ทรงพุ่มต้นทั้ง 2 แบบมีปริมาณดอกและปริมาณผลแตกต่างกัน โดยทรงพุ่มสี่เหลี่ยมที่ขยายพันธุ์จากกิ่งข้างมีปริมาณดอกและปริมาณผลมากกว่า โดยทรงต้นทุกรูปแบบสามารถให้ผลผลิตได้เต็มศักยภาพของทรงต้น 30 - 40 ผลต่อต้น ทำให้มีต้นทุนการผลิตลดลง หรือคิดเป็น 1/3 ของต้นทุนต้นทุเรียนที่ปลูกระยะปกติ 8 X 8 เมตร

          ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ดำเนินการวิจัยจัดทรงต้นและตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนพันธุ์หมอนทองในแนวตั้ง ระยะปลูกชิด 7 x 4 เมตร ความสูงต้น 6 เมตร จำนวน 5 แปลง แปลงละ 25 ต้น ที่มีรูปแบบทรงพุ่มต่างๆ 5 รูปแบบ คือ ทรงปิรามิดตำแหน่งกิ่งตามธรรมชาติ ทรงปิรามิดตำแหน่งกิ่งแบบบันไดเวียน ทรงสี่เหลี่ยมตำแหน่งกิ่งตามธรรมชาติ ทรงสี่เหลี่ยมตำแหน่งกิ่งแบบบันไดเวียนและทรงต้นแบบพุ่มแกนปั่นด้ายเรียว (Slender spindle) ทำทดลองที่ศูนย์พัฒนาไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก จ.จันทบุรี ตั้งแต่ปี 2554 - 2558 เพื่อพัฒนารูปแบบสวนทุเรียน และทรงต้นทุเรียนที่เหมาะสมสำหรับใช้เครื่องจักรกลการเกษตรง่ายต่อการปฏิบัติงานภายในสวน เพื่อทดแทนการขาดแคลนแรงงาน ให้ผลตอบแทนสูงต่อพื้นที่และต้นทุนการผลิตต่ำลง ไม่มีการวางแผนการทดลอง เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกรรมวิธีด้วย t-Test ผลการทดลองพบว่า ในปี 2558 ต้นทุเรียนมีอายุ 4 ปี พบว่าต้นทุเรียนทั้ง 5 แปลง มีการเจริญเติบโตดี มีความสมบูรณ์ต้นเฉลี่ยเท่ากัน คือ 88.50% มีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นเฉลี่ยเท่ากับ 10.7 11.1 12.4 11.9 และ 11.1 เซนติเมตร ตามลำดับ โดยต้นทุเรียนที่มีทรงต้นแบบสี่เหลี่ยมกิ่งตามธรรมชาติมีเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้นทุเรียนเพิ่มขึ้นมากที่สุด ต้นทุเรียนทั้ง 5 รูปแบบเริ่มออกดอกเป็นปีแรกในปี 2557 เมื่อต้นอายุเพียง 3 ปีเท่านั้น สำหรับในปี 2558 ต้นทุเรียนทั้ง 5 รูปแบบออกดอกหมดทุกต้น โดยมีจำนวนดอกเฉลี่ยเท่ากับ 745 735 668 744 และ 1,019 ดอก/ต้น ตามลำดับ พบว่าทรงต้นแบบพุ่มแกนปั่นด้ายเรียวมีจำนวนดอก/ต้นมากที่สุด โดยในปีนี้เริ่มไว้ผลผลิตทุเรียนเป็นปีแรกเฉพาะกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกิ่งมากกว่า 1 นิ้วเท่านั้น พบว่าต้นทุเรียนทั้ง 5 รูปแบบมีจำนวนผลเท่ากับ 1.92 3.00 3.08 3.60 และ 4.28 ผล/ต้นตามลำดับ พบว่าต้นทุเรียนที่มีทรงต้นแบบพุ่มแกนปั่นด้ายมีจำนวนผล/ต้นมากที่สุด ทำการตรวจสอบคุณภาพผลผลิตทุเรียน พบว่าน้ำหนักผลเฉลี่ยของต้นทุเรียนที่มีทรงต้นต่างกันทั้ง 5 กรรมวิธี มีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ในช่วง 3.37 - 3.92 กก./ผล คุณภาพผลผลิตโดยรวมของทั้ง 5 กรรมวิธี มีลักษณะภายนอก ลักษณะภายใน และคุณภาพเนื้อไม่แตกต่างกันมาก ต้นทุนการผลิตในปีการผลิต 2558 ของทั้ง 5 แปลงใกล้เคียงกัน โดยมีต้นทุนการผลิตเท่ากับ 224.36 บาท/ต้น คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันกำจัดโรค แมลง ปุ๋ยเคมีและสารควบคุมการเจริญเติบโต และเขตกรรม เท่ากับ 23.15 25.00 35.40 และ 16.45 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อกระจายการผลิต
ชมภู จันที, ศิริพร วรกุลดำรงชัย, วีรญา เต็มปีติกุล, จิตติลักษณ์ เหมะ, ภิรมย์ ขุนจันทึก และอัจฉรา ศรีทองคำ

          จากการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตทุเรียนเพื่อกระจายการผลิต มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้วิธีการจัดการผลิตทุเรียนนอกฤดูหลากหลายวิธี สำหรับแนะนำให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในการกระจายการผลิต ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ระหว่างฤดูกาลผลิตปี 2553/2554 - 2555/2556 โดยมีการชักนำให้ทุเรียนมีการออกดอกตามกรรมวิธีต่างกัน 5 กรรมวิธี ได้แก่ การชักนำให้ทุเรียนออกดอกก่อนฤดูกาลด้วยการพ่นสารพาโคลบิวทราโซล (กรรมวิธีที่ 2), การพ่นสารเมพิควอทคลอไรด์ (กรรมวิธีที่ 3), การพ่นปุ๋ยสูตร 0-42-56 (กรรมวิธีที่ 4) และการชักนำให้ทุเรียนออกดอกล่าฤดูกาล (กรรมวิธีที่ 5) เปรียบเทียบกับการออกดอกในฤดูกาลของทุเรียน (กรรมวิธีที่ 1) พบว่าการผลิตทุเรียนก่อนฤดูกาลด้วยการพ่นสารพาโคลบิวทราโซลอัตรา 1,000 ppm มีแนวโน้มทำให้ทุเรียนเริ่มมีการออกดอกก่อนกรรมวิธีอื่น และมีการออกดอกครบทุกต้นก่อนการผลิตทุเรียนในฤดูกาลประมาณ 8 - 35 วัน และมีแนวโน้มให้จำนวนดอก/ต้น, จำนวนผล/ต้น ปริมาณผลผลิต/ต้นมากที่สุด โดยมีจำนวนดอก/ต้นเฉลี่ย 4,799 - 10,478 ดอก มีจำนวนผล/ต้นเฉลี่ย 19 - 43 ผล มีปริมาณผลผลิต/ต้นเฉลี่ย 78.70 - 126.39 กิโลกรัม และมีน้ำหนักผลเฉลี่ย 2.96 - 3.97 กิโลกรัม ส่วนการผลิตทุเรียนล่าฤดูกาลพบว่า เริ่มมีการออกดอกหลังการผลิตทุเรียนในฤดูกาล 28 - 43 วัน ทำให้สามารถกระจายช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาดช่วงก่อนฤดูกาลประมาณ 8 - 35 วันและช่วงล่าฤดูกาลได้ 28 - 43 วัน

วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการจัดการด้านเขตกรรมและการอารักขาพืช เพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนคุณภาพ
ศิริพร วรกุลดำรงชัย, มาลัยพร เชื้อบัณฑิต, ธิติยา สารพัฒน์, อภิรดี กอร์ปไพบูลย์, วิชาญ ประเสริฐ, นลินี ศิวากรณ์, พจนา ตระกูลสุขรัตน์ และเพลินพิศ สงสังข์

          โรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนที่สร้างความสูญเสียต่อการปลูกทุเรียนซึ่งมีเชื้อรา Phytophthora palmivora (Butl.) เป็นเชื้อสาเหตุ เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดการสวนทุเรียนจึงได้เลือกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่ต้านทานต่อโรคด้วยวิธี detached leaf ในทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองจำนวน 200 ต้น พบว่ามี 39 ต้นที่ทนทานต่อเชื้อระดับปานกลาง ซึ่งเป็นทุเรียนพื้นเมืองสายต้นมาจาก อ.หลังสวน จ.ชุมพร จำนวน 16 ต้น และอ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 23 ต้น และจากการนำต้นทุเรียนทั้ง 39 ต้น มาคัดเลือกความต้านทานต่อเชื้อ P. Palmivora ด้วยวิธีปลูกเชื้อในกระถางปลูกพบว่ามี 36 ต้น ไม่แสดงอาการของโรครากเน่าโคนเน่า

          ศึกษาประสิทธิภาพของสารเคมีและสารอินทรีย์ในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนดำเนินการที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 สิ้นสุดเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 โดยได้ทำการแยกเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าจากตัวอย่างดินในแปลงปลูกทุเรียนของศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้เชื้อราไฟทอปทอร่าจำนวน 3 ไอโซเลต พบว่าไอโซเลต P-2 ทำให้ทุเรียนเกิดโรครากเน่าโคนเน่าได้รุนแรงที่สุด จึงนำเชื้อที่ได้ไปทดสอบกับสารเคมีและสารอินทรีย์ในห้องปฏิบัติการ และเรือนทดลอง ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารสกัดจากผิวมะกรูด ตะไคร้บ้าน ตะไคร้หอม ผิวส้มโอ สารเคมีเมทาแลคซิล ฟอสฟอรัสแอซิด ฟอสเอสทิลอะลูมินั่ม เทอร์ราคลอร์ มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อราสาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าได้ เมื่อนำสารเหล่านี้ไปทดสอบกับต้นทุเรียนในเรือนทดลอง และแปลงทดลองพบว่า สารสกัดจากตะไคร้บ้าน ตะไคร้หอม ผิวมะกรูด สารเคมีเมทาแลคซิล ฟอสฟอรัสแอซิด ฟอสเอสทิลอะลูมินั่ม เทอร์ราคลอร์ มีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร่าได้ ส่วนปริมาณของสารอินทรีย์ที่ใช้ในการทดสอบ สกัดได้ในปริมาณน้อย และราคาค่อนข้างแพง ความคงตัวในสภาพอุณหภูมิห้องไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ถึงแม้จะพบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับสารเคมี แต่ในทางปฏิบัติ/ การนำไปใช้ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งเรื่องของปริมาณ ราคา และวิธีการนำไปใช้ ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนี้ ยังต้องมีการศึกษาหาวิธีการที่สะดวก และเหมาะสม ใช้ง่ายต่อไป

          โรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนนับเป็นปัญหาที่สำคัญมากต่อการปลูกทุเรียน ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อรา Phytophthora palmivora จึงได้ทำการศึกษาหาวิธีป้องกันกำจัดโดยชีววิธี เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันกำจัดโรค ดำเนินการทดลองตั้งแต่มกราคม 2553 ถึงกันยายน 2558ที่กลุ่มวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร กรุงเทพฯ และแปลงเกษตรกรอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี โดยทดสอบประสิทธิภาพของเชื้อและผลิตภัณฑ์ผงเชื้อ Bacillus subtilis 5102 เพื่อใช้ในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียน พบว่าสารกรองจากเชื้อแบคทีเรีย B. subtilis 5102 ที่เลี้ยงในอาหารเหลวมันฝรั่งน้ำตาลสามารถยับยั้งเชื้อรา P. palmivora ได้เป็นเวลานานถึง 30 วัน ผลิตภัณฑ์จากเชื้อ B. subtilis 5102 สามารถรักษาโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนได้โดยต้นที่ได้รับการรักษาด้วยการลอกเปลือกบริเวณที่เป็นโรคและทาด้วยผลิตภัณฑ์ผงเชื้อ B. subtilis 5102 จำนวน 4 ครั้ง จะเริ่มหายเป็นปกติโดยเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นแผลสีน้ำตาลที่เป็นบริเวณกว้างจะเปลี่ยนเป็นแผลจุดเล็กสีน้ำตาลกระจายตัวไม่รวมตัวกันโดยเนื้อเยื่อบางส่วนเริ่มกลับเป็นเนื้อเยื่อปกติมีสีขาวต้นทุเรียนมีลักษณะสมบูรณ์ฟื้นตัวใบตั้งมีสีเขียวสดใสต้นที่ใช้ผลิตภัณฑ์ผงเชื้อ B. subtilis 5102 มีระดับคะแนนการเป็นโรคต่ำกว่าการใช้สารเคมีเมทาแลกซิลการใส่ผลิตภัณฑ์ผงเชื้อ B. subtilis 5102 สามารถลดปริมาณสปอร์แรนเจียมในดินของเชื้อรา P. palmivora สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติส่วนการปลูกเชื้อในเรือนทดลองโดยใช้วิธีทำแผลบนต้นยังไม่ใช่วิธีการที่ดีที่ใช้ในการทดสอบเนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ต้นทุเรียนตายอย่างรวดเร็วมิได้เกิดจากเชื้อรา P. palmivora เพียงอย่างเดียวแต่อาจเกิดจากการปิดกั้นทางเดินท่อน้ำท่ออาหารของผลิตภัณฑ์ในแต่ละกรรมวิธี ยกเว้นการใช้น้ำหมักของเชื้อ B. subtilis ในกากน้ำตาลสนับสนุนให้ต้นทุเรียนรอดตาย 100 เปอร์เซ็นต์


ไฟล์แนบ
.pdf   79_2558.pdf (ขนาด: 1.5 MB / ดาวน์โหลด: 9,439)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม