11-02-2015, 09:10 AM
การยับยั้งเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคเหี่ยวของขิงด้วยสาร isothiocyanate ในพืชตระกูลกะหล่ำ
สุรชาติ คูอาริยะกุล, อภิชัย วิชัยกุล, นภาพร ไชยยศ และอุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1, ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สุรชาติ คูอาริยะกุล, อภิชัย วิชัยกุล, นภาพร ไชยยศ และอุดมศักดิ์ เลิศสุชาตวนิช
ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1, ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สารระเหย isothiocyanates (ITCs) ได้จากการสลายตัวของสาร glucosinolates (GSLs) ที่พบในพืชผักตระกูลกะหล่ำเป็นสารรมทางชีวภาพ (biofumigant) ที่มีศักยภาพสำหรับการบริหารจัดการโรคพืชและแมลงศัตรูพืชที่ถ่ายทอดทางดิน การยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum (Rs.) ที่ก่อให้เกิดโรคเหี่ยวของขิง ได้ดำเนินการรมทางชีวภาพในห้องปฏิบัติการในสภาพอุณหภูมิ 28+0.5 C นาน 24 ชั่วโมง และอุณหภูมิ 24+0.5 C นาน 48 ชั่วโมง โดยการใช้ใบผักตระกูลกะหล่ำในระยะช่อดอกบาน 50% ทำให้เยือกแข็งอบแห้ง (Freezed dry, FD) จำนวน 14 พันธุ์/สายพันธุ์ใน จำนวน 8 ชนิด ได้แก่ ขิ่ว ขี้หูด เขียวน้อย เขียวใบ ชุนฉ่าย คะน้าดอย Black mustard และ Indian mustard ปรากฏว่า ผลจากการศึกษาจำนวน 3 ครั้ง ในสภาพอุณหภูมิ 28+0.5 C นาน 24 ชั่วโมง การสลายตัวของชุนฉ่าย #77 สามารถยับยั้งการเจริญของโคโลนีแบคทีเรีย Rs. ได้ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่ไม่มีพืชผักตระกูลกะหล่ำที่มีศักยภาพรองลงมา ได้แก่ เขียวใบ #71, ขิ่ว #91 และ Indian mustard #52 ตามลำดับ ส่วนการศึกษาในสภาพอุณหภูมิ 24+0.5 C นาน 48 ชั่วโมง จำนวน 2 ครั้ง พบว่า ชุนฉ่าย #77 สามารถลดประชากรของแบคทีเรีย Rs. ได้ดีที่สุด ที่มีศักยภาพรองลงมา ได้แก่ เขียวใบ #71, Indian mustard #80 และ Indian mustard #52 ตามลำดับ พืชตระกูลกะหล่ำในกลุ่ม Brassica juncea (ชุนฉ่าย เขียวใบ ขิ่ว และ Indian mustard) มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย Rs. บนอาหารเลี้ยงเชื้อได้ดีกว่า B. nigra, Raphanus sativus subsp. longipinatus และ B. oleracea Alboglabra Group การปล่อยให้แบคทีเรีย Rs. รับสารระเหย ITC เป็นเวลานานขึ้นมีผลทำให้ประสิทธิภาพการยับยั้งประชากรบคทีเรีย Rs. เพิ่มขึ้น การวิเคราะห์ตัวอย่างใบผักตระกูลกะหล่ำด้วยเทคนิค Gas chromatography-flame ionization detector (GC-FID) เพื่อหาปริมาณสาร benzyl -ITC (BITC) และ phenylethyl -ITC (PeITC) พบว่า Indian mustard #81 และขิ่ว #91 มีปริมาณ BITC และ PeITC มากที่สุด ตามลำดับ ปริมาณสาร ITCs ที่ตรวจพบไม่มีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย Rs. การทดลองนี้เป็นข้อมูลการนำพืชตระกูลกะหล่ำกลุ่ม B.juncea ที่มีศักยภาพ ในรูปของปุ๋ยพืชสดสำหรับการควบคุมโรคเหี่ยวของขิงในดินต่อไป