08-03-2016, 04:44 PM
การใช้สารสกัดจากหางไหลและน้ำมันปิโตรเลียมในการป้องกันกำจัดศัตรูกระเจี๊ยบเขียว
เสริม สีมา, มัณฑนา มิลน์ และถวิล จอมเมือง
เสริม สีมา, มัณฑนา มิลน์ และถวิล จอมเมือง
การทดลองประสิทธิภาพของสารสกัดหางไหล น้ำมันปิโตรเลียม สารสกัดสะเดา หนอนตายหยาก และสารฆ่าแมลงฟิโปรนิลกับแมลงศัตรูกระเจี๊ยบเขียว ทำการทดลองในแปลงเกษตรกร อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ปี 2550 โดยทำการทดลอง 9 กรรมวิธี 3 ซ้ำ ขนาดแปลงย่อย 5 x 6 เมตร จำนวน 27 แปลง ประกอบด้วยสารสกัดหางไหล ความเข้มข้นที่ใช้ในการทดลอง 0.0025, 0.005 และ 0.01% น้ำมันปิโตรเลียมอัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร สารสกัดสะเดา 100 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร หนอนตายหยาก 2 ชนิดคือ Stemona phyllantha Gagnep และ Stemona aphylla Craip อัตราความเข้มข้นชนิดละ 300 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร สารฆ่าแมลงฟิโปรนิล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร และแปลงเปรียบเทียบโดยพ่นสารทุก 5 วัน ตรวจนับแมลงได้แก่ เพลี้ยจักจั่นฝ้าย โดยนับจากใบยอดลงมาจำนวน 5 ใบ 10 ต้นต่อแปลงย่อย เก็บผลผลิตจำนวน 8 ครั้ง เมื่อนับแมลงครบ 4 ครั้ง พบว่าสารฆ่าแมลงฟิโปรนิล พบจำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายน้อยที่สุดเพียง 2.27 ตัว รองลงมาได้แก่ แปลงที่พ่นด้วยสารสกัดหางไหลความเข้มข้น 0.0025, 0.005 และ 0.01% สารสกัดหนอนตายหยาก (Stemona phyllantha) อัตรา 300 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร พบเพลี้ยจักจั่นฝ้าย 12.35, 10.31, 7.41 และ 11.58 ตัว ให้ผลไม่แตกต่างทางสถิติกับแปลงที่พ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟิโปรนิล แต่แตกต่างจากแปลงเปรียบเทียบอย่างมีนัยสำคัญพบ 53.80 ตัว และเมื่อดูประสิทธิภาพของสารทดลองพบว่าสารฆ่าแมลงฟิโปรนิล ทำให้จำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายลดลง 95.78% สารสกัดหางไหลทำให้จำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายลดลง 77.04 - 86.22% หนอนตายหยากทำให้เพลี้ยจักจั่นฝ้ายลดลง 63.12 - 78.47% และศึกษาการเพิ่ม จำนวนประชากรของเพลี้ยจักจั่นฝ้าย หลังการพ่นสาร 5 และ 10 วัน พบว่าในแปลงที่พ่นด้วยสารสกัดหางไหล 0.0025, 0.005 และ 0.01% สารสกัดหนอนตายหยาก S. phyllantha พบจำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้าย 23.37, 14.60, 13.90 และ 17.73 ตัว การเพิ่มของเพลี้ยจักจั่นฝ้ายไม่แตกต่างจากสารฆ่าแมลงฟิโปรนิล หลังการพ่นครั้งสุดท้ายและเมื่อเก็บฝักกระเจี๊ยบเขียว จำนวน 8 ครั้ง พบว่าสารฆ่าแมลงฟิโปรนิล และสารสกัดหางไหลความเข้มข้น 0.01% ให้ผลผลิตสูงสุด 667 และ 607 กรัม/ครั้ง รองลงมาได้แก่สารสกัดหางไหล ความเข้มข้น 0.005% ให้ผลผลิต 546 กรัม/ครั้ง แปลงเปรียบเทียบได้เพียง 320 กรัม/ครั้ง และในปี 2551 พบว่า สารฆ่าแมลงฟิโปรนิลพบจำนวนเพลี้ยจักจั่นฝ้ายน้อยที่สุดเพียง 4.54 ตัว รองลงไปได้แก่สารสกัดหางไหลความเข้มข้น 0.01% ส่วนหางไหลแช่น้ำที่อัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 20 ลิตร ให้ผลรองจากสารสกัดหางไหล 0.01%