08-03-2016, 03:51 PM
การศึกษาระยะเวลาปลูกที่เหมาะสมของข้าวฟ่างหวานในเขตอาศัยน้ำฝน
นัฐภัทร์ คำหล้า, วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ, อมรา ไตรศิริ และสมนึก คงเทียน
นัฐภัทร์ คำหล้า, วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ, อมรา ไตรศิริ และสมนึก คงเทียน
ข้าวฟ่างหวาน เป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในการใช้เป็นวัตถุดิบเสริมสำหรับผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์ จึงได้ศึกษาหาช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อปลูกข้าวฟ่างหวานป้อนโรงงานผลิตเอทานอลในเขตอาศัยน้ำฝน ทดลองในข้าวฟ่างหวาน 3 สายพันธุ์ คือ Utis23585 Cowley และ Wray โดยปลูกทุก 1 เดือนจำนวน 4 วันปลูก คือ เดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม วางแผนการทดลองแบบ Split plot จำนวน 4 ซ้ำ ณ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ ในปี 2550-2551
ผลการทดลองในปี 2550 พบว่า น้ำหนักต้นสดหลังออกช่อดอก 20 วัน เฉลี่ยทุกวันปลูกอยู่ระหว่าง 9.65 - 11.12 ตัน/ไร่ ค่าความหวาน 14.11 - 15.07 องศาบริกซ์ ความสูง 3.46 - 3.54 เมตร และอายุเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่าง 80 - 88 วัน สำหรับวันปลูกพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ การปลูกข้าวฟ่างหวานในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน (11.0 - 13.91 ตัน/ไร่) ให้น้ำหนักต้นสดเฉลี่ยสูงกว่าการปลูกในเดือน กรกฎาคม และสิงหาคม (8.10 - 8.18 ตัน/ไร่) สำหรับค่าความหวานการปลูกในเดือนมิถุนายนให้ความหวานเฉลี่ยจาก 3 สายพันธุ์สูงสุด และ ในปี 2551 น้ำหนักต้นสดหลังออกช่อดอก 20 วัน เฉลี่ยทุกวันปลูกอยู่ระหว่าง 7.26 - 8.47 ตัน/ไร่ ค่าความหวาน 12.03 - 13.31 องศาบริกซ์ ความสูง 3.51 - 3.55 เมตร และอายุเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่าง 83 - 92 วัน สำหรับวันปลูกพบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ การปลูกข้าวฟ่างหวานในเดือนพฤษภาคม (11.83 ตัน/ไร่) ให้น้ำหนักต้นสดเฉลี่ยสูงกว่าการปลูกในเดือน มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม (4.40 - 8.71 ตัน/ไร่) สำหรับค่าความหวานการปลูกในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายนให้ความหวานเฉลี่ยจาก 3 สายพันธุ์สูงสุด จึงสามารถสรุปได้ว่าช่วงปลูกข้าวฟ่างหวานที่เหมาะสม ในเขตอาศัยน้ำฝนภาคกลางจะอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน โดยที่ผลผลิตต้นสดในช่วงต้นฝน (พฤษภาคม - มิถุนายน) จะให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกปลายฤดู (กรกฎาคม - สิงหาคม) ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการผลิตข้าวฟ่างหวานให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานผลิตเอทานอลต่อไป