การทดสอบความปลอดภัยจากการบริโภคมะละกอดัดแปรงพันธุกรรมของหนูนอร์เวย์ สายพันธุ์ Wistar
#1
การทดสอบความปลอดภัยจากการบริโภคมะละกอดัดแปรงพันธุกรรมของหนูนอร์เวย์ (Rattus norvegicus) สายพันธุ์ Wistar
พวงทอง บุญทรง, ปราสาททอง พรหมเกิด, ปิยาณี หนูกาฬ, วิไล ปราสาทศรี และเมธินี ศรีวัฒนกุล

         มะละกอเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันมากในทุกภาคของประเทศไทย ปัญหาสำคัญของการปลูกมะละกอคือ โรคจุดวงแหวนมะละกอที่มีสาเหตุจากเชื้อ “Papaya Ringspot Virus” (PRSV) การป้องกันกำจัดโรคจุดวงแหวนมะละกออย่างยั่งยืน คือ การใช้พันธุ์มะละกอตัดต่อสารพันธุกรรม ที่มีความต้านทานโรคไวรัสจุดวงแหวนมะละกอซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาขึ้น 2 สายพันธุ์คือ แขกนวล R3 319-1KN-181 และแขกดำ R3300KD-9 การทดสอบนี้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความปลอดภัยด้านอาหารของมะละกอดัดแปรพันธุกรรม 2 สายพันธุ์ ดังกล่าวเพื่อทราบผลต่อการเจริญเติบโต และระบบสืบพันธุ์ของหนูนอร์เวย์ (Rattus norvegicus) ใช้หนูนอร์เวย์ปลอดเชื้ออายุ 4 สัปดาห์ ชั่งน้ำหนักหนูก่อนการทดสอบและทุกสัปดาห์ระหว่างการทดสอบ ในมะละกอแต่ละพันธุ์ แบ่งกลุ่มหนูเป็น 5 กลุ่ม (กรรมวิธี) วางแผนการทดลอง แบบ CRD กรรมวิธีละ 10 ซ้ำ (ตัวผู้ 5 ตัว และตัวเมีย 5 ตัว) ต่อมะละกอหนึ่งสายพันธุ์ กลุ่มที่ 1. หนูกินอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงหนูอย่างเดียว (กลุ่มเปรียบเทียบ) กลุ่มที่ 2. หนูกินอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงหนูและมะละกอดิบธรรมดา กลุ่มที่ 3. หนูกินอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงหนูและมะละกอสุกธรรมดา กลุ่มที่ 4. หนูกินอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงหนูและมะละกอดิบดัดแปรพันธุกรรม กลุ่มที่ 5. หนูกินอาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงหนูและมะละกอสุกดัดแปรพันธุกรรม เมื่อหนูทดลองมีอายุ 12 สัปดาห์ จับหนูผสมพันธุ์ เมื่อหนูตั้งท้อง 10 - 20 วัน นำมาผ่าเพื่อศึกษาอัตราการผสมติด (%fertility) และจำนวนลูกต่อครอก ส่วนหนูเพศผู้นำมาผ่าตัดเอาอัณฑะมาตรวจนับจำนวนอสุจิในอัณฑะและในท่อพักส่วนหางรวมทั้งการนับจำนวนอสุจิที่มีชีวิต (sperm viability) ผลการทดสอบพบว่า กลุ่มที่บริโภคมะละกอพันธุ์แขกนวล หนูเพศผู้ มีน้ำหนักตัวแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง คือหนูในกลุ่มเปรียบเทียบมีน้ำหนักตัวน้อยที่สุด (309.9 กรัม) หนูเพศผู้ที่บริโภคมะละกอดิบธรรมดามีน้ำหนักมากที่สุด (309.9 กรัม) หนูเพศผู้ที่บริโภคมะละกอดิบธรรมดามีน้ำหนักมากที่สุด (377.8 กรัม) นอกจากนี้ยังพบว่าหนูที่บริโภคมะละกอดัดแปรพันธุกรรมและธรรมดาทั้งดิบและสุกมีน้ำหนักตัวไม่ต่างจากหนูที่บริโภคมะละกอดิบธรรมดา (344.8 - 377.8 กรัม) ส่วนผลต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูเพศผู้พบว่าในทุกกรรมวิธีเปอร์เซ็นต์อสุจิที่มีชีวิต (94.0 - 96.8%) และจำนวนอสุจิในอัณฑะ (25.4 - 34.9 x 10(6) ตัวต่อกรัม) ไม่แตกต่างกันส่วนอสุจิในท่อพักส่วนหาง (cauda epididymis) แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันแต่หนูเพศผู้ที่บริโภคมะละกอดิบและสุกดัดแปรพันธุกรรมมีจำนวนอสุจิ (694.5 และ 700.0 ตัว ตามลำดับ) ไม่ต่างจากหนูที่บริโภคมะละกอดิบธรรมดา (695.3 ตัว) ในกลุ่มหนูเพศเมีย ที่กินอาหารทุกกรรมวิธีมีน้ำหนักตัวไม่ต่างกัน (213.0 - 260.4 กรัม) ส่วนผลต่อระบบสืบพันธุ์ของหนูเพศเมียในทุกกรรมวิธีพบว่า อัตราการผสมติด (%fertility) ไม่แตกต่างกัน พบระหว่าง 85.8 - 96.3% จำนวนลูกต่อครอกไม่แตกต่างกัน คือพบระหว่าง 9.0 - 11.0 ตัว ส่วนกลุ่มที่กินมะละกอพันธุ์แขกดำพบว่าน้ำหนักตัวของหนูเพศผู้อายุ 12 สัปดาห์ที่บริโภคมะละกอดัดแปรพันธุกรรมและธรรมดาทั้งดิบและสุกมีน้ำหนักตัวไม่ต่างกัน คือ พบระหว่าง 260.7-272.4 กรัม ส่วน ผลต่อระบบสืบพันธุ์พบว่า เปอร์เซ็นต์อสุจิที่มีชีวิต (92.0 - 97.2%) และจำนวนอสุจิในอัณฑะ (20.9 - 29.1 x 10(6) ตัวต่อกรัม) ในทุกกรรมวิธีไม่แตกต่างกัน ส่วนจำนวนอสุจิในท่อพักส่วนหางของหนูที่บริโภคมะละกอดิบและสุกดัดแปรพันธุกรรมและธรรมดาไม่แตกต่างจากหนูในกลุ่มเปรียบเทียบ (549.5 - 692.3 x 10(6) ตัวต่อกรัม) ในหนูเพศเมียพบว่า น้ำหนักตัวของหนูที่บริโภคมะละกอดัดแปรพันธุกรรมและธรรมดาทั้งดิบและสุกไม่แตกต่างกัน (202.6 - 214.0 กรัม) อัตราการผสมติด (86.1 - 92.3%) และจำนวนลูกต่อครอก (8.6 - 11.6 ตัว) ในทุกกรรมวิธีไม่มีความแตกต่างกัน


ไฟล์แนบ
.pdf   984_2551.pdf (ขนาด: 1.68 MB / ดาวน์โหลด: 595)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม