การทดสอบสายพันธุ์ เบญจมาศที่เหมาะสมในแต่ละเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
#1
การทดสอบสายพันธุ์เบญจมาศที่เหมาะสมในแต่ละเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง  
การทดลองย่อย การทดสอบสายพันธุ์เบญจมาศที่เหมาะสมในแต่ละเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
พฤกษ์ คงสวัสดิ์, วิทยา จำปาแก้ว และจงวัฒนา พุ่มหิรัญ

          เบญจมาศ (Dendranthemum grandiflora) เป็นพืชวันสั้น ดอกจะพัฒนาหากช่วงกลางวันสั้นกว่า 13.5 ชั่วโมงโดยทั่วไปเบญจมาศที่นิยมปลูกเป็นไม้ตัดดอก มี 2 ประเภท คือ 1. กลุ่มพันธุ์เบญจมาศกลุ่มผลิตดอกเดี่ยว (Standard Type) เป็นเบญจมาศที่มีดอกขนาดใหญ่ แต่ละต้นเลี้ยงให้มี 3 - 4 กิ่ง และแต่ละกิ่งให้มีเพียง 1 ดอกและ 2. กลุ่มพันธุ์เบญจมาศกลุ่มผลิตดอกช่อ (Spray Type) เป็นเบญจมาศที่มีดอกขนาดเล็กกว่า แต่ละกิ่งมีหลายดอกและมี 3 - 4 กิ่งต่อต้น หรืออาจมีมากกว่านี้ ตัดดอกขายในลักษณะเป็นกิ่งหรือต้องขายทั้งต้น เบญจมาศเป็นพืชที่มีการปลูกเพื่อในการบริโภคในประเทศมีพื้นที่เหมาะสมในการปลูกส่วนใหญ่ในภาคเหนือตอนบนหรือบนพื้นที่สูงซึ่งมีพื้นที่จำกัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการปลูกเบญจมาศเพียงในช่วงฤดูหนาว จึงได้ทดลองพันธุ์เบญจมาศใหม่ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยทำการทดลองแบบ RCBD มี 12 กรรรมวิธี จำนวน 3 ซ้ำๆ ละ 10 ต้น แปลงขนาด 1 x 2 เมตร มีกรรมวิธี คือ พันธุ์เบญจมาศจำนวน 12 สายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มพันธุ์ดอกเดี่ยว 6 พันธุ์ ได้แก่ สโนดอนขาว สโนดอนเหลือง เรโซมี รีบอลเนต อัลลิอัส ลิจิ ไวท์ โดยมีพันธุ์ ไรวารี เป็นพันธุ์เปรียบเทียบกลุ่มพันธุ์ดอกช่อ 4 พันธุ์ ได้แก่ชมพูหวาน จาร์กลัว เรด 001 โพลาริส โกล์ดเดนโพลาลิส โดยมีพันธุ์ เรแกนซันนีเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ทำการทดลอง 3 ปี ในกลุ่มพันธุ์เบญจมาศผลิตดอกเดี่ยว เบญจมาศพันธุ์ สโนดอนเหลืองมีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยสั้นที่สุดคือ 84.93 วัน และ พันธุ์ ไรวารี มีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยนานที่สุดคือ 105.17 วัน แต่ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ เบญจมาศพันธุ์ เรโซมี มีความยาวก้านดอก ความกว้างดอก ความหนาดอกมากที่สุดคือ 6.80 ซม. แต่มีอายุการปักแจกันสั้นที่สุด ส่วนกลุ่มพันธุ์เบญจมาศกลุ่มผลิตดอกช่อ พบว่า เบญจมาศพันธุ์ชมพูหวาน มีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยสั้นที่สุดคือ 91.50 วัน และ พันธุ์ โกล์ดเดนโพลาลิส มีอายุเก็บเกี่ยวเฉลี่ยนานที่สุด 112 วัน แต่ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ เบญจมาศพันธุ์ โพลาลิส มีความยาวก้าน ดอกความหนาดอก และจำนวนดอกต่อช่อมากที่สุด เบญจมาศพันธุ์ จาร์กลัว เรด 001 มีความกว้างดอกมากที่สุด และ เบญจมาศพันธุ์โกล์ดเดนโพลาลิสมีอายุการปักแจกันมากที่สุด จากผลการทดลองสรุปได้ว่า 1. กลุ่มเบญจมาศพันธุ์ดอกเดี่ยวที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (แหล่งผลิตที่ระดับ 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล) คือ พันธุ์เรโซมี พันธุ์ลิมบอนเนต พันธุ์สโนดอนเหลือง และ พันธุ์สโนดอนขาวตามลำดับ 2. กลุ่มเบญจมาศพันธุ์ดอกช่อที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (แหล่งผลิตที่ระดับ 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล) คือ พันธุ์โพลาลิส พันธุ์โกลเดนโพลาลิส พันธุ์ชมพูหวาน และพันธุ์จากัวร์ เรด 001 ตามลำดับ คำแนะนำการปลูกเบญจมาสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ควรปลูกในช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม จะให้ดอกที่มีคุณภาพดีที่สุด หากปลูกหลังเดือนมกราคม ดอกไม่มีการพัฒนาหรือเกิดช่อดอกวันยาว


ไฟล์แนบ
.pdf   1056_2551.pdf (ขนาด: 985.41 KB / ดาวน์โหลด: 776)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม