สภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดของเกษตรกรในเขตภาคตะวันออก
#1
สภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดของเกษตรกรในเขตภาคตะวันออก
ชลธิชา เตโช, พุฒนา รุ่งระวี, ไกรศร ตาวงศ์, อุไรวรรณ นาสพัฒน์ และสมพร วนะสิทธิ์
กรมวิชาการเกษตร

          เพื่อศึกษาสภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดของเกษตรกรภาคตะวันออก จึงได้ทำการการเก็บรวบรวมข้อมูลการผลิตสับปะรด ในปี เพาะปลูก 2550-2551 โดยการสุ่มเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดในจังหวัดระยอง ชลบุรีและตราด ด้วยวิธีสุ่มเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ได้เกษตรกรตัวอย่างทั้งหมด 159 ครัวเรือน ทำการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2551 ผลการศึกษาสรุปผลดังนี้ ลักษณะการปลูกสับปะรดของเกษตรกร มี 2 ลักษณะคือ ปลูกเป็นแบบพืชเชิงเดี่ยวมีร้อยละ 69 และแบบปลูกเป็นพืชแซมร้อยละ 31 โดยปลูกเป็นพืชแซมยางพารามากที่สุดร้อยละ 88 มะพร้าวร้อยละ 6 ปาล์มร้อยละ 4 และมะขามร้อยละ 2 ปลูกสับปะรดเป็นอาชีพหลักร้อยละ 87 จุดประสงค์ในการปลูกคือ เพื่อส่งโรงงานมากที่สุดคือ ร้อยละ 73 เกษตรกรมีเนื้อที่เพาะปลูกเฉลี่ย 10 ไร่/ครัวเรือน โดยสับปะรดในพืชเชิงเดี่ยวจะเป็นสับปะรดปลูก คือ หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้วจะทำการปลูกใหม่ทุกครั้ง ใน 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 7,000 - 8,000 ต้น ส่วนการปลูกแบบเป็นพืชแซมส่วนใหญ่เป็นแบบไว้ตอ จะปลูกครั้งเดียวและจะเก็บผลผลิตไปได้ประมาณ 3 – 5 ปี ใน 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 3,500 - 4,000 ต้น เทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตสับปะรดในด้านต่างๆ คือ พันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา สุขลักษณะ โรค/แมลง วิธีการปฏิบัติของเกษตรกร และการเก็บเกี่ยวพบว่า ส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกพันธุ์ปัตตาเวียร้อยละ 97 ที่เหลือ ปลูกพันธุ์ตราดสีทอง ส่วนเหตุผลของเกษตรกรในการปลูกพันธุ์ดังกล่าว 3 อันดับแรกคือ ตรงตามความต้องการของโรงงานร้อยละ 72 หาพันธุ์ง่ายร้อยละ 12 เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ ร้อยละ 10 ในการเตรียมแปลงปลูกสับปะรดมีการปรับพื้นที่ด้วยการไถในการปลูกพืชทั้ง 2 แบบ ในพืชแซมไถเฉลี่ยประมาณ 2-3 ครั้ง ส่วนในพืชแบบเชิงเดี่ยวไถประมาณ 3 - 4 ครั้ง เกษตรกรมีการใช้สารเคมีชุบ/พ่น หน่อ ก่อนปลูกสับปะรด เพื่อลดการสูญเสียต้นจากเชื้อราและโรคเน่า โดยเฉพาะถ้าปลูกในฤดูฝนพบว่า ในการปลูกแบบพืชแซมมีการชุบสารร้อยละ 35 ในพืชเชิงเดี่ยวร้อยละ 5 สารที่ชุบคือ อาลีเอทพบร้อยละ 88 ในพืชแซม และร้อยละ 80 ในพืชเชิงเดี่ยว การดูแลรักษามีการใช้ปุ๋ยโดยใส่ปุ๋ยครั้งแรกหลังจากมีฝน ใส่มากกว่า 1 ชนิดโดยเป็น 3 ช่วงการใส่ คือก่อนการบังคับดอก พร้อมกับบังคับดอก และหลังบังคับดอกดอก โดยปุ๋ยที่ใส่มากที่สุดในพืชแซม ได้แก่ สูตร 15-15-15 สูตร 21-0-0 สูตร 46-0-0 พบร้อยละ 57 14 และ 12 ตามลำดับ ส่วนในพืชเชิงเดี่ยวใช้สูตรเดียวกันพบร้อยละ 79 72 และ 37 ตามลำดับ และโดยเฉลี่ยแล้วในพืชแซมจะใส่ปุ๋ยทั้งหมดจนถึงเก็บเกี่ยว ประมาณ 4 ครั้ง ส่วนแบบพืชเชิงเดี่ยวจะใส่มากกว่าคือ ประมาณ 6 ครั้ง การให้น้ำโดยทั่วไปเกษตรกรจะอาศัยน้ำฝนเป็นหลักในการเพาะปลูก แต่ช่วงที่แห้งแล้งมากจะให้น้ำ ในพืชแซมพบว่า มีการให้น้ำร้อยละ 20 ในพืชเชิงเดี่ยวร้อยละ 48 โดยส่วนมากจะให้น้ำในฤดูหนาวคือร้อยละ 83 ในพืชแซม และร้อยละ 96 ในพืชเชิงเดี่ยว ความถี่ในการให้จะให้ติดต่อกันเฉลี่ย 8 - 9 ครั้ง ในการปลูกพืชทั้ง 2 ลักษณะ การกำจัดวัชพืชมีการกำจัดทุกครัวเรือนโดยสารเคมีที่ใช้คือ ไดยูรอน พบทุกครัวเรือนที่ตกเป็นตัวอย่าง รองลงมาได้แก่ โบรมาซิลพบร้อยละ 93 ในพืชเชิงเดี่ยวและร้อยละ 42 ในพืชแซม และมีการกำจัดด้วยการถอนทิ้งหรือการถางแมลงส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา สำหรับโรคพบโรคเหี่ยวมากในพืชที่ปลูกแบบเชิงเดี่ยว ที่จังหวัดระยองและชลบุรีพบร้อยละ 98 และโดยส่วนใหญ่พืชทั้ง 2 ระบบปลูกจะไม่กำจัดร้อยละ 75 ในพืชแซม และร้อยละ 92 ในพืชเชิงเดี่ยว เนื่องจากไม่รู้วิธีการกำจัด ส่วนในกลุ่มที่มีการกำจัดจะใช้สารอาลีเอทในการกำจัดมากที่สุดพบในพืชแซมร้อยละ 42 และในแบบพืชเชิงเดี่ยวร้อยละ 80 มีการใช้สารเคมีในการบังคับดอกเพื่อให้สับปะรดออกดอกพร้อมกันและสม่ำเสมอ และเก็บเกี่ยวพร้อมกันในช่วงเวลาที่ต้องการผลผลิต โดยบังคับเวลาเช้าหรือเย็น สำหรับสารเคมีที่เกษตรกรใช้บังคับดอก มี 2 ลักษณะคือแบบหยอดด้วยถ่านแก๊สคาร์ไบค์ พบร้อยละ 49 ในพืชแซม และร้อยละ 18 ในระบบพืชเชิงเดียว อีกแบบหนึ่งคือ พ่นด้วยสารเคมี พบร้อยละ 76 ในพืชแซม และ ร้อยละ 99 ในพืชเชิงเดี่ยวโดยสารเคมีที่ใช้มากที่สุด คือ เอทธิฟอนพบร้อยละ 59 และ 69 ในพืชแซม และในพืชเชิงเดี่ยว ตามลำดับ การแคะจุกสับปะรด มีร้อยละ 72 ในการปลูกแบบเป็นพืชแซมขณะที่พืชแบบเชิงเดี่ยวมีการแคะจุกเพียงร้อยละ 6 การคลุมผลสับปะรดในช่วงที่แดดร้อนจัด มีร้อยละ 63 ในพืชแซมและ ร้อยละ60 ในพืชเชิงเดี่ยว วัสดุที่นิยมใช้คลุมคือ กระดาษหนังสือพิมพ์โดยทำเป็นถุงครอบ การเก็บเกี่ยวสับปะรดจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่หลังบังคับดอกประมาณ 5 เดือนขึ้นไปโดยจะเก็บสับปะรดเมื่อตาของผลสับปะรดเปิดประมาณ 2 - 3 ตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจำหน่าย ถ้าผลิตเป็นสับปะรดกระป๋องโรงงานจะเก็บตามการกำหนดเปอร์เซนต์ความสุกของโรงงาน ผลผลิตสับปะรด เกษตรกรที่ปลูกแบบเป็นพืชแซมได้ผลผลิตเฉลี่ย 3 ตัน/ไร่ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว ได้ผลผลิตเฉลี่ย 5.4 ตัน/ไร่ การจำหน่ายผลผลิต เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตได้หลายช่องทางคือ ส่งโรงงานสับปะรดกระป๋อง ส่งแผง และส่งแม่ค้าขายผลสด หรือขายเอง โดยส่วนใหญ่ส่งโรงงานมากกว่าร้อยละ 73 ราคาขายเฉลี่ยประมาณ 4- 5 บาท/กก ขายผลสดได้ราคาที่สูงกว่าส่งโรงงานหรือส่งแผงประมาณ 1 บาท ต้นทุนการผลิตสับประรด แบบปลูกเป็นพืชแซม เฉลี่ยไร่ละ 12,479.52 ประกอบด้วยต้นทุนผันแปร ไร่ละ11,780.10 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 และต้นทุนคงที่ ไร่ละ 699.41 หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของต้นทุนทั้งหมด ค่าต้นพันธุ์เป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือไร่ละ 2,677 บาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของต้นทุนผันแปร รองลงมาคือ ค่าปุ๋ยเคมีไร่ละ 2,249 บาท คิดเป็นร้อยละ 19 ของต้นทุนผันแปร และค่าจ้างแรงงานหักหน่อพันธุ์ ไร่ละ 855.53 บาท คิดเป็นร้อยละ 7 ของต้นทุนผันแปร ต้นทุนการผลิตสับประรด แบบปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว เฉลี่ยไร่ละ 21,371.73 บาท ประกอบด้วยต้นทุนผันแปร ไร่ละ 20,099.37 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 94 และต้นทุนคงที่ไร่ละ 1,272.35 หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของต้นทุนทั้งหมด ค่าต้นพันธุ์เป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดคือ ไร่ละ 4,279.13 บาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของต้นทุนผันแปร รองลงมาคือ ค่าปุ๋ยเคมีไร่ละ 3,669.93 บาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของต้นทุนผันแปร และค่าซ่อมแซมเครื่องมืออุปกรณ์ ไร่ละ 1,758.06 บาท คิดเป็นร้อยละ 9 ของต้นทุนผันแปร สำหรับปัญหาในการผลิตที่พบมาก 3 อันดับแรกในพืชแซม ได้แก่ ราคา โรค และแรงงาน พบร้อยละ 48 44 และ 40 ตามลำดับ ในพืชเชิงเดี่ยว ได้แก่ โรค ราคา และปุ๋ย/ยาราคาแพง พบร้อยละ 98 42 และ 23 ตามลำดับ
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม