การประเมินอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่เหมาะสมกับยางพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง
#1
การประเมินอัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่เหมาะสมกับยางพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง
เกษตร แนบสนิท, รัชนี  รัตนวงศ์ และนภาวรรณ  เลขะวิพัฒน์
ศูนย์วิจัยยางหนองคาย สถาบันวิจัยยาง

          เนื่องจากปัจจุบันไม้ยางพารากำลังมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ของประเทศไทยเป็นอันมาก สถาบันวิจัยยางจึงได้แนะนำพันธุ์ยางของไทยที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้สูง ได้แก่ พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 401 และพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 402 (ฉะเชิงเทรา 50) ซึ่งนอกจากพันธุ์ยางแล้วปุ๋ยเคมีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของยางพาราโดยยางพาราต้องการธาตุอาหารไนโตรเจนและโพแทสเซียมในปริมาณที่สูงกว่าฟอสฟอรัสและแมกนีเซียม อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการจัดการสวนยางสำหรับการผลิตเนื้อไม้ยังไม่มีการศึกษาอย่างเฉพาะเจาะจง และไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่ยางพาราต้องการเพื่อการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรจะได้มีการศึกษาการตอบสนองของปุ๋ยที่มีผลต่อการผลิตเนื้อไม้ของยางพารา เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิต และคุณภาพเนื้อไม้สูง และแนะนำแก่เกษตรกรที่ต้องการปลูกยางเพื่อเนื้อไม้ การศึกษาเริ่มจากปลูกยางพาราพันธุ์เพื่อเนื้อไม้จำนวน 2 พันธุ์คือ พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 402 (ฉะเชิงเทรา 50) และพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 401 พันธุ์ละ 7 ไร่ ในพื้นที่ 14 ไร่ ในปี 2547 โดยใช้ระยะปลูก 4 x 4 เมตร ใส่ปุ๋ยไนโตรเจน 3 ระดับ คือ 10%N, 20%N และ 30%N ขณะที่ทุกระดับใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัส 10%P2O5 และใส่ปุ๋ยโพแทสเซียม 12%K2O วางแผนการทดลองแบบ Split plot design จำนวน 3 ซ้ำ โดยมีพันธุ์ยางเป็น Main plot และอัตราการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเป็น Sub plot จากผลการทดลองในอายุยาง 6 ปี ในการทำการทดลองปุ๋ยไนโตรเจน 3 ระดับในพันธุ์ยางเนื้อไม้ 2 พันธุ์ พบว่า พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 401 ระดับปุ๋ยไนโตรเจนมีผลต่อความเจริญเติบโตของต้นยาง โดยการใช้อัตราไนโตรเจนร้อยละ 30ให้การเจริญเติบโตดีที่สุด ส่วนพันธุ์สถาบันวิจัยยาง 402 การใช้อัตราไนโตรเจนร้อยละ 20 ให้การเจริญเติบโตดีที่สุด แต่ยังไม่พบความแตกต่างทางสถิติของการเจริญเติบโตในต้นยางแต่ละวิธีการ


ไฟล์แนบ
.pdf   1524_2552.pdf (ขนาด: 249.85 KB / ดาวน์โหลด: 995)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม