การให้บริการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในพืชเศรษฐกิจส่งออกพื้นที่ภาคตะวันออก
#1
การให้บริการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในพืชเศรษฐกิจส่งออกพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2005
เกษสิริ ฉันทพิริยะพูน, ขนิษฐา วงษ์นิกร, ดาวนภา ช่องวารินทร์, อุมาพร รักษาพราหมณ์, สมชาย ฉันทพิริยะพูน, จิติลักษณ์ พลพวก, ประไพ หงษา และโอภาส จันทสุข
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

          พื้นที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ผลิตไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ พื้นที่ทางการเกษตร 9,870,355 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 45.93 ผลผลิตส่วนใหญ่ ได้แก่ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะม่วง ปริมาณการส่งออกในแต่ละปีประมาณ 741,383 ตัน มูลค่าการส่งออกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) เป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออก รับผิดชอบจังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว มีหน้าที่ในการตรวจสอบรับรองคุณภาพสินค้าเกษตร โดยเฉพาะการตรวจสอบสารพิษตกค้างก่อนการส่งออกตาม พรบ. กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำเป็นต้องดำเนินการด้านการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างด้วยมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 : 2005 เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประเทศปลายทาง การดำเนินการดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ได้รับการรับรองจากสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ขอบข่ายที่ได้รับการรับรองคือ การวิเคราะห์สารพิษตกค้างกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัส 5 ชนิด ได้แก่ ไดอะซินอน พิริมิฟอสเมทิล คลอร์ไพริฟอส เฟนิโทรไทออน และอีไทออน ในมะม่วง ทั้งนี้การเลือกชนิดของพืชและสารพิษตกค้างเป็นไปตามมูลค่าการส่งออกและความเข้มงวดของประเทศปลายทาง การดำเนินการดังกล่าวรองรับการส่งออกจากเกษตรกรและบริษัทส่งออกกว่า 114 บริษัท ตัวอย่างการส่งออกในแต่ละปี 1,525 ถึง 2,885 ตัวอย่าง ใบรับรอง 1,212 ถึง 4,065 ฉบับ

          การที่ห้องปฏิบัติการได้รับการรับรองทำให้การให้บริการด้านการวิเคราะห์สารพิษตกค้างเป็นไปอย่างมีระบบ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ลดระยะเวลาการให้บริกาารลงจาก 3 วันทำการเป็น 2 วันทำการ ผลการวิเคราะห์สารพิษตกค้างพบว่า ลำไยเป็นพืชส่งออกที่มีปัญหาสารพิษตกค้างมากที่สุดโดยพบวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และพบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่า MRL ของประเทศไทยและประเทศปลายทางร้อยละ 5.83 รองลงมาคือ มะม่วงร้อยละ 4.69 ทุเรียนร้อยละ 1.45 และมังคุดร้อยละ 1.16 ชนิดของสารเคมีที่พบมากที่สุด ไซเปอร์เมทริน รองลงมาคือ คลอร์ไพริฟอส

          ผลการวิเคราะห์นำมาสู่การให้ความร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตมะม่วงในการปรับปรุงระบบการผลิต เพื่อลดปัญหาสารพิษตกค้าง กรณีศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทราพบว่า สามารถแก้ปัญหาการส่งออกได้ โดยความมุ่งมั่นของเกษตรกรและผู้ประกอบการ จากกรณีศึกษาพบว่า มะม่วงที่ใช้ในการส่งออกทั้งหมดเป็นไปตามค่า MRL ของประเทศญี่ปุ่น


ไฟล์แนบ
.pdf   1839_2553.pdf (ขนาด: 95.93 KB / ดาวน์โหลด: 761)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม