การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของไส้เดือนฝอย Radopholus similis ในไม้น้ำ ไม้ดอก
#1
การเฝ้าระวังการเกิดและการแพร่กระจายของไส้เดือนฝอย Radopholus similis ในไม้น้ำและไม้ดอกไม้ประดับ
นุชนารถ ตั้งจิตสมคิด และวานิช คำพานิช
กลุ่มวิจัยโรคพืช และกลุ่มวิจัยการกักกันพืช  สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

         การสุ่มเก็บพรรณไม้น้ำสกุล Anubias sp. ของฟาร์มปลูกพรรณไม้น้ำเพื่อการส่งออกในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนกันยายน 2551 ตรวจแยกไส้เดือนฝอยออกจากรากพืชโดยใช้เทคนิค Mist chamber ผลการตรวจและนับจำนวนพบ ไส้เดือนฝอย R. similis ในบ่อปลูกไม้น้ำแพร่ระบาดตั้งแต่ระดับ 0-20% ของพื้นที่สุ่ม โดยตรวจพบ R. similis ในรากไม้น้ำสูงที่สุดในเดือนมกราคมและมิถุนายน 2551 จำนวน 2 ตัวอย่าง คิดเป็นการแพร่ระบาดเท่ากับ 20% และพบจำนวน R. similis ในรากสูงที่สุดในเดือนมีนาคม 2551 จำนวน 36 ตัว/ราก 10 ต้น/1 ตัวอย่าง รองลงมาคือ เดือนเมษายน 2551 จำนวน 28 ตัว/ราก 10 ต้น/1 ตัวอย่าง และตรวจไม่พบในเดือนกุมภาพันธ์ กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2551 คิดเป็นค่าเฉลี่ยการแพร่ระบาดของประชากรไส้เดือนฝอย R. similis เท่ากับ 7.78% ในระยะเวลา 9 เดือน

          การสุ่มเก็บพรรณไม้น้ำของฟาร์มในเขตจังหวัดนครราชสีมา โดยทำการเก็บตัวอย่างต้นและรากไม้น้ำสกุล Anubias spp. และไม้น้ำสกุลอื่นๆ ทุก 2 เดือนคือ เดือนตุลาคม ธันวาคม 2551 กุมภาพันธ์ เมษายน มิถุนายน และสิงหาคม 2552 รวม 6 ครั้ง ทำการตรวจแยกไส้เดือนฝอยโดยใช้เทคนิค mist chamber และการใช้คลื่นเสียงพบ ไส้เดือนฝอย R. similis ในรากไม้น้ำสกุล Anubias spp. เท่ากับ 80 80 20 30 0 และ 0% ของตัวอย่างที่ตรวจในแต่ละเดือน สำหรับพรรณไม้น้ำสกุลอื่นๆ ตรวจพบไส้เดือนฝอย R. similis ในพรรณไม้น้ำสกุล Bacopa spp.และ Ceratopteris spp., ในเดือนธันวาคม 2551 จำนวน 10 และ 10% ของตัวอย่างที่ตรวจ ตามลำดับ สำหรับไม้น้ำในแหล่งผลิต จ.ฉะเชิงเทรา ตรวจพบไส้เดือนฝอยศัตรูพืชกักกัน 2 ชนิด คือ R. similis ในไม้น้ำสกุล Anubias spp. และไส้เดือนฝอย Hirschmanniella spp. ในสกุล Vallisneria spp. และตรวจไส้เดือนฝอยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ศัตรูพืชกักกันคือ Pratylenchus sp., Helicotylenchus sp. และ Meloidogyne sp.


ไฟล์แนบ
.pdf   1677_2553.pdf (ขนาด: 114.16 KB / ดาวน์โหลด: 1,586)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 6 ผู้เยี่ยมชม