ชีววิทยาหอยเจดีย์ใหญ่
#1
ชีววิทยาหอยเจดีย์ใหญ่
ปิยาณี หนูกาฬ, ดาราพร รินทะรักษ์ ชมพูนุท จรรยาเพศ และปราสาททอง พรหมเกิด
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          จากการสำรวจแปลงกล้วยไม้ของเกษตรกรที่มีการระบาดของหอยเจดีย์ใหญ่ ในภาคกลางและภาคตะวันตก จังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร และกาญจนบุรี จึงเก็บตัวอย่างหอยเจดีย์ใหญ่จำนวน 200 ตัว มาเลี้ยงขยายพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อศึกษาพฤติกรรมและชีววิทยาด้านต่างๆ โดยนำหอยเจดีย์ใหญ่มาเลี้ยงในสภาพกึ่งธรรมชาติในกล่องพลาสติกใสที่รองด้วยขุยมะพร้าวผสมกาบมะพร้าวสับและดิน รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ ให้อาหารปลาและผักสด เช่น แตงกวา ผักกาดแก้ว ผักกาดขาว และผักกาดหอม เป็นอาหารพบว่า หอยสามารถปรับตัวและกินอาหารได้ดี หอยเจดีย์ใหญ่ที่นำมาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการมีพฤติกรรมชอบหลบแสงอยู่ตามใต้เศษไม้ใบไม้ ใบผักอาหารและกาบมะพร้าวสับที่มีความชื้น หอยเจดีย์ใหญ่มี 2 เพศในตัวเดียวกันแต่ผสมภายในไม่ได้ ต้องมีการจับคู่เพื่อผสมพันธุ์ข้ามตัวในช่วงเวลากลางคืนที่มีความชื้นเหมาะสม เช่นหลังการให้น้ำในแปลงปลูกพืชหรือหลังฝนตก หอยที่ผสมพันธุ์แล้วจะมีไข่อยู่ในตัว 2-8 ฟอง สามารถมองเห็นชัดเจนได้ด้วยตาเปล่า หอยจะวางไข่กระจายไว้ใกล้กันตามบริเวณที่หลบแสง หรือตามซอกดินที่มีรอยแตก โดยวางไข่ทีละฟองจนหมดครอกใช้เวลา 2-3 วัน ไข่หอยมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.70 มิลลิเมตร (n=30) มีเปลือกเป็นแคลเซียมบางๆ สีขาว ในห้องปฏิบัติการที่อุณหภูมิ 27-30 องศาเซลเซียส ไข่หอยใช้เวลาฟักเป็นตัว 2-5 วัน จึงเป็นลูกหอยขนาดเล็กมีรูปร่างเหมือนพ่อแม่แต่ลักษณะเปลือกค่อนข้างกลมมีสีเหลืองอ่อนใสมองเห็นยอดเกลียวเปลือกไม่ชัดเจน มีขนาดตัวเฉลี่ย 2.38 มิลลิเมตร(n=30) มอง เมื่อโตขึ้นยอดเกลียวเปลือกก็จะเพิ่มจำนวนและขนาดสูงขึ้น ลูกหอยเริ่มเคลื่อนไหวและกัดกินใบผักหรือพืชอาหารที่อ่อนนิ่มได้หลังจากผ่านไป 2-3 วัน อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 1 มิลลิเมตร ต่อเดือน ลูกหอยมีอัตราการอยู่รอดจนโตเต็มวัยร้อยละ 42.19 วงชีวิตตั้งแต่ฟักจากไข่จนเป็นตัวเต็มวัยสามารถสืบพันธุ์ได้ใช้เวลาประมาณ 6-7 เดือน หอยที่โตเต็มวัยแล้วจะมีเปลือกสีขาวใส ขนาดตัวเล็กสุดที่เริ่มจับคู่ผสมพันธุ์ คือ 9.03 มิลลิเมตร


ไฟล์แนบ
.pdf   1733_2553.pdf (ขนาด: 242.51 KB / ดาวน์โหลด: 2,390)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม