ศักยภาพของแม่ปุ๋ยบางชนิดต่อการยับยั้งและป้องกันการเกิดโรครากขาวของยางพารา
#1
ศักยภาพของแม่ปุ๋ยบางชนิดต่อการยับยั้งและป้องกันการเกิดโรครากขาวของยางพารา สาเหตุจากเชื้อรา Rigidoporus  microporus ในยางปลูกใหม่
อารมณ์  โรจน์สุจิตร, สายใจ  สุชาติกูล, บุญปิยะธิดา  แคล่วคล่อง, สมคิด ดำน้อย, ปราโมทย์  คำพุทธ และชูศักดิ์ สมมาตร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7, ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี  สถาบันวิจัยยาง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7

          โรครากขาวเป็นโรคที่เกิดกับระบบรากและมีความสัมพันธ์กับปัจจัยดิน ดังนั้น การจัดการดินจึงเป็นมาตรการที่สำคัญที่มีผลต่อการป้องกันกำจัดโรคราก การศึกษาศักยภาพของแม่ปุ๋ยบางชนิดต่อการป้องกันการเกิดโรครากขาวของยางพาราสาเหตุจากเชื้อรา Rigidoporus microporus (Fr.) Overeem ในยางปลูกใหม่ เพื่อพัฒนาอัตราการใช้และวิธีการที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้ในสภาพแปลงปลูกต่อไป ดำเนินการทดลองปี 2551-2553 ทำการศึกษาทั้งในสภาพเรือนทดลองและในแปลงยางที่เป็นโรครากขาวรุนแรง ในสภาพเรือนทดลอง ทำการทดสอบโดยการปลูกต้นยางชำถุงอายุ 6 เดือนในดินที่ผสมด้วยสารทดลองและปลูกเชื้อราโรครากขาว ทำการทดลอง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ทำการทดลอง 11 กรรมวิธี คือ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต ซิลิกอนผง และกำมะถันผง (80%) ผสมดินปลูกอัตรา 0.5 และ 1.0% และกรรมวิธีควบคุม (ดินปกติ) ครั้งที่ 2 ทำการทดลอง 10 กรรมวิธี คือ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยยูเรีย กำมะถันผง (80%) ผสมดินปลูกอัตรา 0.25 และ 0.50% ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต อัตรา 0.25, 0.50 และ 1.0% และกรรมวิธีควบคุม และหลังปลูก 6 เดือนใส่สารทดลองซ้ำตามกรรมวิธี ผลการทดลองพบว่า ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต และซิลิกอนผง ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเชื้อราโรครากขาว ในขณะที่ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต กำมะถัน อัตรา 0.25-1.0% และปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟตอัตรา 1.0% เชื้อราโรครากไม่สามารถเจริญและต้นยางไม่เป็นโรค จึงได้ศึกษาพัฒนาการใช้เพื่อป้องกันโรคในแปลงปลูกยางที่เป็นโรครากขาว โดยการปลูกต้นยางชำถุงอายุ 6 เดือนในดินปลูกที่ผสมด้วย ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต กำมะถัน และปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต อัตรา 100, 200 และ 300 กรัม/หลุมปลูก ผลปรากฏว่า ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟตทุกอัตรา ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพบว่า มีต้นยางเป็นโรคไม่แตกต่างกับกรรมวิธีควบคุม ส่วนปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยยูเรีย และกำมะถันทุกอัตรา มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรครากขาวของยางพาราปลูกใหม่ได้ 92-100% ซึ่งแตกต่างจากกรรมวิธีควบคุมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ แต่ปุ๋ยยูเรียและกำมะถันมีข้อจำกัดคือ ที่อัตราสูงมีความเสี่ยงต่อการเป็นพิษกับต้นยางหากผสมดินและปลูกยางทันที


ไฟล์แนบ
.pdf   1529_2552.pdf (ขนาด: 361.36 KB / ดาวน์โหลด: 812)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม