ผลของการจัดการดินและปุ๋ยเคมีที่มีต่อผลผลิตข้าวโพดในชุดดินปากช่องในระยะยาว
#1
ผลของการจัดการดินและปุ๋ยเคมีที่มีต่อผลผลิตข้าวโพดในชุดดินปากช่องในระยะยาว
ศุภกาญจน์ ล้วนมณี, นงลักษ์ ปั้นลาย, สมฤทัย ตันเจริญ, เข็มพร เพชราภรณ์, ศิริขวัญ ภู่นา และอนันต์ ทองภู
กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          ศึกษาผลของการจัดการดินและปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่องระยะยาวต่อผลผลิตข้าวโพดที่ปลูกในชุดดินวังสะพุง (Loamy, isohyperthermic, Typic Haplustalfs) ซึ่งมีเนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย ดำเนินการทดลอง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรลพบุรี ในแปลงทดลองที่มีการใช้วัสดุอินทรีย์ปรับปรุงดินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519-2548 สำหรับการทดลองในปี พ.ศ.2549-2553 วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block ประกอบด้วย 12 กรรมวิธีๆ ละ 3 ซ้ำ กรรมวิธีเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้ปุ๋ยเคมี วัสดุอินทรีย์ ปุ๋ยอินทรีย์ การปลูกพืชแซมหรือพืชตาม และการไถพรวนดิน

          ผลการทดลองปีที่ 31-35 พบผลตกค้างจากการใช้ปุ๋ยเคมีและวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานโดยพบว่า การไถกลบเศษซากข้าวโพดและถั่วเขียวติดต่อเป็นเวลานานถึง 35 ปี ทำให้อินทรียวัตถุในชั้นดินบน (0-15 เซนติเมตร) เพิ่มขึ้นจาก 1.1 เปอร์เซ็นต์ (ในปีที่ 1) เป็น 1.33 เปอร์เซ็นต์ (ปีที่ 35) สำหรับการใช้ฟางข้าวคลุมดินในอัตรา 640 กิโลกรัมต่อไร่ ต่อเนื่อง 30 ปี และหยุดใส่ในปีที่ 31-35 พบว่าในปีที่ 33 ดินในกรรมวิธีที่เคยใส่ฟางข้าวร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตราต่ำ (6.7-6.7-6.7 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่) และปุ๋ยเคมีอัตราสูง (10-10-10 กิโลกรัม N-P2O5-K2O ต่อไร่) มีโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้เฉลี่ย 105 และ 145 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ และเมื่อใส่เปลือกไม้ยูคาลิปตัสแทนฟางข้าวในปีที่ 34-35 ในอัตรา 703 กิโลกรัมน้ำหนักแห้งต่อไร่ พบว่ากรรมวิธีที่ใส่เปลือกไม้ยูคาลิปตัสร่วมกับปุ่ยเคมีอัตราต่ำ และปุ๋ยเคมีอัตราสูง ทำให้ชั้นดินบนในปีที่ 35 มีโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ 81 และ 115 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานมีผลทำให้ดินมีพีเอชลดลงและทำให้ดินมีฟอสฟอรัสตกค้างอยู่ในดินอย่างเห็นได้ชัด

          การใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับการปลูกพืชตามชนิดต่างๆ ทำให้ข้าวโพดให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน แต่ให้ผลผลิตสูงกว่ากรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยเคมีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และการใส่เปลือกไม้ยูคาลิปตัสร่วมกับการใส่ปุ๋ยในอัตราต่ำมีแนวโน้มทำให้ข้าวโพดขาดธาตุไนโตรเจนและให้ผลผลิตต่ำ แต่เมื่อใส่เปลือกไม้ยูคาลิปตัสร่วมกับปุ๋ยเคมีอัตราสูงพบว่า ไม่มีผลกระทบต่อการให้ผลผลิตของข้าวโพด นอกจากนี้ยังพบว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูปลูกหรือช่วงการเจริญเติบโตของข้าวโพดมีความสำคัญต่อการให้ผลผลิตของข้าวโพดเป็นอย่างยิ่ง


ไฟล์แนบ
.pdf   1934_2553.pdf (ขนาด: 1.65 MB / ดาวน์โหลด: 1,347)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม