12-08-2015, 01:53 PM
รูปแบบการซื้อขายยางก้อนถ้วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มณิสร อนันต๊ะ, สุกัลยา ศิริฟองนุกูล และสมจิตต์ ศิขรินมาศ
สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง
มณิสร อนันต๊ะ, สุกัลยา ศิริฟองนุกูล และสมจิตต์ ศิขรินมาศ
สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา และสำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยยาง
การศึกษารูปแบบตลาดยางก้อนถ้วยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาการซื้อขายยางก้อนถ้วยผ่านระบบตลาดกลางยางพารา อันนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่ผู้ใช้บริการให้การยอมรับและเป็นแหล่งอ้างอิงราคาที่สำคัญในระดับภูมิภาค ผลการศึกษาพบว่า การซื้อขายยางก้อนถ้วยส่วนใหญ่จะซื้อขายโดยวิธีประมูลผ่านจุดรวบรวมในท้องถิ่นทุก 15 วัน สำหรับแนวทางการพัฒนากระบวนการซื้อขายยางก้อนถ้วยได้นำรูปแบบการซื้อขายของสถาบันเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรเป็นกรณีศึกษามาประยุกต์ใช้โดยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่หนึ่ง การซื้อขายผ่านตลาดกลางยางพารากล่าวคือ ผู้ขายต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกตลาดและนำยางมารวบรวมไว้ที่ตลาดกลางก่อนการซื้อขายจริง 1 วัน โดยบรรจุยางก้อนถ้วยในบรรจุภัณฑ์ที่ตลาดกลางกำหนดขนาดบรรจุประมาณ 50 กิโลกรัม เพื่อสะดวกในการยกขึ้นลง การชั่งยาง และการประมาณน้ำหนัก จากนั้นเจ้าหน้าที่จะเจาะรูที่ถุงพลาสติกหรือกระสอบเพื่อมิให้น้ำขังในบรรจุภัณฑ์และลดความชื้นในก้อนยาง เจ้าหน้าที่ตลาดกลางตรวจสอบและคัดคุณภาพยางด้วยสายตาโดยใช้จำนวนมีดกรีดและจำนวนวันจัดเก็บเป็นเกณฑ์ แต่ต้องสะอาดไม่มีสิ่งสกปรกเจือปน ทั้งนี้จำเป็นต้องสุ่มตรวจค่าปริมาณเนื้อยางแห้ง (ค่า DRC) สำหรับเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคากลางและเป็นฐานข้อมูลซื้อขาย ส่วนราคาประมูลเป็นราคา ณ ตลาดกลาง และเป็นราคาสุทธิที่หักเปอร์เซ็นต์ความชื้นของยางแต่ละคุณภาพโดยผู้ซื้อและผู้ขายต้องรับน้ำหนักชั่งที่ตลาดกลาง ซึ่งตลาดกลางจะทดรองจ่ายเงินค่ายางแก่ผู้ขาย จากนั้นผู้ซื้อต้องชำระเงินค่ายางคืนแก่ตลาดกลางทันทีที่รับมอบยางเสร็จสิ้น แนวทางปฏิบัติอีกรูปแบบหนึ่งคือ การสร้างเครือข่ายตลาดกลางโดยพิจารณาคัดเลือกสถาบันเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งทำหน้าที่บริหารจัดการตลาด และดำเนินกระบวนการซื้อขายซึ่งจำลองรูปแบบมาจากตลาดกลาง แต่คณะกรรมการหรือผู้เกี่ยวข้องต้องได้รับการอบรมด้านการจัดการตลาดและการคัดคุณภาพยางก้อนถ้วยเพื่อให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดกลาง ทั้งนี้เครือข่ายไม่ต้องนำยางไปขายที่ตลาดกลาง แต่แจ้งปริมาณยางเข้าร่วมประมูลที่ตลาดกลาง ดังนั้น ราคาซื้อขาย ณ เครือข่ายจึงเป็นราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา โดยตลาดกลางจะทดลองจ่ายเงินค่ายางให้เครือข่ายตามปริมาณยางที่เสนอเข้าร่วมประมูล และผู้ซื้อรับน้ำหนักยางที่ตลาดเครือข่าย พร้อมทั้งจ่ายเงินค่ายางคืนแก่ตลาดกลางทันทีที่รับมอบยางเสร็จสิ้น ส่วนกระบวนการส่งมอบและรับมอบยาง ณ ตลาดเครือข่ายขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างเครือข่ายกับผู้ซื้อ อย่างไรก็ตาม การพัฒนากระบวนการซื้อขายยางก้อนถ้วยผ่านระบบตลาดกลางยางพาราให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยการติดตาม ตรวจเยี่ยม เพื่อรับทราบปัญหาอุปสรรคและให้คำแนะนำซึ่งจะทำให้เกิดการยอมรับและมีความมั่นใจในระบบตลาดกลางนำไปสู่ความสำเร็จ และความสามารถในการขยายตลาดเครือข่ายให้มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ