การพัฒนาโรงรมควันของสถาบันเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP
#1
การพัฒนาโรงรมควันของสถาบันเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP
มณิสร  อนันต๊ะ, สมจิตต์ ศิขรินมาศ และปรีดิ์เปรม ทัศนกุล
สำนักงานตลาดกลางยางพาราสงขลา  และศูนย์วิจัยยางสงขลา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร

          การพัฒนาโรงรมควันของสถาบันเกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางพัฒนาโรงรมควันยางของสหกรณ์กองทุนสวนยางให้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP ทำการศึกษาโดยใช้แบบประเมินแบบตรวจสอบรายการ (Check List) พร้อมกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนแต่ละด้านเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลโรงรมควันยางภายใต้การดำเนินงานของสหกรณ์กองทุนสวนยางซึ่งยังคงเปิดดำเนินธุรกิจอยู่ จำนวน 244 แห่ง ผลการศึกษาพบว่า สหกรณ์ฯ ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับดี (80 คะแนนขึ้นไป) จำนวน 1 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.40 ผ่านการประเมินด้านสถานที่ตั้งและอาคารผลิต ด้านการบำรุงรักษาและการสุขาภิบาล ด้านการเก็บรักษาและการขนส่ง แต่จะต้องปรับปรุงในด้านเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต ด้านการควบคุมกระบวนการผลิต โดยเฉพาะการติดตั้งเทอร์โมมิเตอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ และด้านบุคลากรของสหกรณ์ฯต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตยางแผ่นรมควันและการคัดคุณภาพยางก่อนการปฏิบัติงานจริง สหกรณ์ฯ ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับพอใช้ (70-79 คะแนน) จำนวน  81 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 33.20 ผ่านการประเมินด้านการเก็บรักษาและการขนส่ง โดยจะต้องปรับปรุงด้านสถานที่ตั้งและอาคารผลิต คือ การปรับปรุงเตา ความสะอาดบริเวณการผลิต การจัดเก็บเครื่องมือและอุปกรณ์ ตลอดจนที่พักอาศัยต้องแยกจากบริเวณคัดคุณภาพ ด้านเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์โดยเฉพาะเครื่องชั่ง การกรองน้ำยาง ความสะอาดของวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  ต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้ยางแผ่นรมควันมีคุณภาพดีมากกว่าร้อยละ 95  ด้านการบำรุงรักษาและการสุขาภิบาลควรมีถังขยะและหมั่นทำความสะอาดพื้นภายในโรงงานอย่างสม่ำเสมอ ด้านบุคลากรของสหกรณ์ฯ ต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตยางแผ่นรมควันและการคัดคุณภาพยางจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สหกรณ์ฯ ที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับควรปรับปรุง (1-69 คะแนน) จำนวน 162 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 66.40 ผ่านการประเมินด้านการเก็บรักษาและการขนส่ง โดยจะต้องปรับปรุงด้านสถานที่ตั้งและอาคารผลิต คือ ซ่อมแซมเตา ห้องรม ฝ้าเพดานห้องรม ประตูห้องรม ดูแลพื้นโรงรมไม่ให้มีน้ำท่วมขัง ทำความสะอาดคูระบายน้ำ การจัดเก็บรักษาอุปกรณ์ ควรมีบริเวณเฉพาะและติดป้ายบ่งชี้ ที่พักอาศัยต้องแยกออกจากอาคารผลิตรวมถึงห้ามเลี้ยงสัตว์ภายในอาคารผลิต ด้านเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตจะต้องทำความสะอาดและเก็บรักษาให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ ด้านการควบคุมกระบวนการผลิตจะต้องมีการจดบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณการผลิตหรือรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและสามารถตรวจสอบได้ ควบคุมการกรองน้ำยางก่อนเข้าสู่การผลิตโดยไม่มีสิ่งปลอมปนในน้ำยาง ต้องมีเทอร์โมมิเตอร์ควบคุมอุณหภูมิในการรมยาง ด้านการบำรุงรักษาและการสุขาภิบาลต้องมีการจัดเก็บขยะหรือเศษยางใส่ในถังขยะให้เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมถึงต้องมีระบบการบำบัดน้ำเสียไม่ให้มีกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนสถานที่ใกล้เคียง ด้านบุคลากรต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการผลิตยางแผ่นรมควันและการคัดคุณภาพยางหรือมีประสบการณ์ในการทำยางแผ่นรมควัน ดังนั้นในเบื้องต้นภาครัฐควรมีการฝึกอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกร ผู้นำของสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นคุณค่า และมีความรู้ความเข้าใจการปรับปรุงการผลิตเข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป


ไฟล์แนบ
.pdf   1879_2554.pdf (ขนาด: 158.9 KB / ดาวน์โหลด: 812)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม