11-19-2015, 03:15 PM
การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราระดับแปลงเกษตรกร เพื่อนำสู่ระบบซื้อขายผ่านตลาดกลางไม้ยางพารา
กฤษดา สังข์สิงห์, อารักษ์ จันทุมา, สุพินยา จันทร์มี, สมมาต แสงประดับ, มาตุวรรณ บุณยัษเฐียร และพนัส แพชนะ
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, สถาบันวิจัยยาง
กฤษดา สังข์สิงห์, อารักษ์ จันทุมา, สุพินยา จันทร์มี, สมมาต แสงประดับ, มาตุวรรณ บุณยัษเฐียร และพนัส แพชนะ
ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี, สำนักงานตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี, สถาบันวิจัยยาง
สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเปิดตลาดกลางไม้ยางพาราในปี พ.ศ. 2555 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและให้มีการแข่งขันเสรีทางการค้า ระบบตลาดเป็นแบบเสนอราคาสุทธิเหมาสวนทางอิเลคทรอนิคส์ผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อให้การดำเนินการของตลาดกลางไม้ยางพาราบรรลุตามวัตถุประสงค์ การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราในแปลงเกษตรกรจึงเป็นเครื่องมือ (tool) ที่สำคัญของระบบตลาดกลาง สำหรับการนำผลการจัดชั้นที่ได้ของแต่ละสวนประกาศบนเว็บไซท์ (www.Rubberthaiwoodauction.com) ก่อนที่จะประมูลผ่านระบบอิเลคทรอนิคส์ของตลาดกลางไม้ยางพาราต่อไป การจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางพาราดำเนินการระหว่างปี พ.ศ. 2553 - 2555 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก คือ 1) สำรวจข้อมูลจากโรงงานรับซื้อไม้ยางพาราในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก จำนวน 25 โรง เพื่อหาลักษณะที่ต้องใช้ในการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยาง 2) นำข้อมูลตัวแปรจากขั้นตอนที่ 1 พร้อมค่าถ่วงน้ำหนัก ผนวกกับวิธีการประเมินปริมาณไม้ที่ได้ศึกษาไว้แล้วมาคำนวณด้วยสมการทางคณิตศาสตร์ในการจัดชั้นมาตรฐาน ซึ่งผลการคำนวณสามารถแบ่งชั้นมาตรฐานไม้ยางได้เป็น 16 ชั้นตามปริมาณไม้และข้อจำกัด 3) จัดทำประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง พัฒนารูปแบบการประเมินการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยาง และจัดสัมมนาถ่ายทอดวิธีการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางแก่เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรเพื่อให้สามารถจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางได้ผลเช่นเดียวกัน 4) ดำเนินการจัดชั้นมาตรฐานไม้ยางในสวนยางที่แจ้งความประสงค์ขายไม้ผ่านตลาดกลางไม้ยางพาราและนำข้อมูลของสวนยางมาประกาศบนเว็บไซท์จนถึงขณะนี้มีเกษตรกรและส่วนราชการได้ยื่นความประสงค์ขายไม้ยางพาราผ่านตลาดกลาง จำนวน 26 แปลง เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปสำรวจ จัดชั้นมาตรฐานและนำผลข้อมูลประกาศบนเว็บไซท์แล้ว จำนวน 18 แปลง มีการประมูลซื้อขายผ่านตลาดกลางเสร็จสิ้นและดำเนินการตัดโค่นแล้ว จำนวน 7 แปลง ผลจากการขายไม้ยางพาราผ่านระบบการซื้อขายของตลาดกลางไม้ยางพาราทำให้เกษตรกรได้รับมูลค่าเพิ่มขึ้นจากราคาสุทธิที่พอใจเฉลี่ยร้อยละ 61.7