09-13-2018, 04:12 PM
ทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก
จันทนา ใจจิตร, สุภาพร สุขโต, วีระพงษ์ เย็นอ่วม, ฉัตรชีวิน ดาวใหญ่, สมบัติ บวรพรเมธี, เครือวัลย์ บุญเงิน, อรัญญา ภู่วิไล, วัชรา สุวรรณ์อาศน์, สุวิทย์ สอนสุข, สงัด ดวงแก้ว และปัญญา พุกสุ่น
จันทนา ใจจิตร, สุภาพร สุขโต, วีระพงษ์ เย็นอ่วม, ฉัตรชีวิน ดาวใหญ่, สมบัติ บวรพรเมธี, เครือวัลย์ บุญเงิน, อรัญญา ภู่วิไล, วัชรา สุวรรณ์อาศน์, สุวิทย์ สอนสุข, สงัด ดวงแก้ว และปัญญา พุกสุ่น
การทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันตก วัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบพันธุ์การใช้ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน พื้นที่ดำเนินการ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ พื้นที่ในเขตชลประทานและพื้นที่แห้งแล้งในเขตอาศัยน้ำฝน ดำเนินการในแปลงเกษตรกรของจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ และชัยนาท รายละ 1 - 2 ไร่ จำนวน 50 ราย กรรมวิธีทดสอบมี 2 ปัจจัย ได้แก่ พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นครสวรรค์ 3) การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และการใช้ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดิน ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ผลการดำเนินงานพบว่า พื้นที่ในเขตชลประทานจังหวัดอุทัยธานี กรรมวิธีทดสอบการใช้ปุ๋ยตามลักษณะเนื้อดิน จังหวัดนครสวรรค์ กรรมวิธีทดสอบการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,521 และ 949 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 4,841 และ 2,708 บาท/ไร่ กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 17.27 และ 12.00 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 45.5 และ 56.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ พื้นที่แห้งแล้งอาศัยน้ำฝนในเขตจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ และชัยนาท โดยจังหวัดอุทัยธานีและชัยนาท มีการทดสอบทั้ง 2 ปัจจัย ได้แก่ พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นครสวรรค์ 3) และการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน จังหวัดนครสวรรค์ มีการทดสอบปัจจัยเดียว ได้แก่ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตเฉลี่ย 985 1,453 และ 1,461 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 2,868 8,033 และ 5,445 บาท/ไร่ กรรมวิธีทดสอบให้ผลผลิตมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 6.66 1.9 และ 22.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร 11.21 20.1 และ 22.6 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ทั้ง 2 กรรมวิธีมีค่าสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุน (BCR) มากกว่า 1 และกรรมวิธีทดสอบมีสัดส่วนรายได้ต่อการลงทุนมากกว่ากรรมวิธีเกษตรกร ดังนั้น วิธีการใส่ปุ๋ยเคมีตามลักษณะเนื้อดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินร่วมกับการใช้พันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นครสวรรค์ 3) เป็นวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะให้ผลผลิตข้าวโพดเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงน้อย คุ้มค่าต่อการลงทุน