โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
#1
โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
นวลจันทร์ ศรีสมบัติ, พีชณิตดา ธารานุกูล, รัชดา ปรัชเจริญวนิชย์, ศรีนวล สุราษฎร์, สุพัตรา รงฤทธิ์, วนิดา โนบรรเทา, รัชดาวัลย์ อัมมินทร, ภัสชญภน หมื่นแจ้ง, ชูศักดิ์ แขพิมาย, จิระ อะสุรินทร์ และประสิทธ์ ไชยวัฒน์
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุรินทร์, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูง, สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4, กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร, สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

          โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบการผลิตพืชตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ การจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสมในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์จังหวัดนครราชสีมา และการศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดด้วงหมัดผักในการผลิตพืชผักตระกูลกะหล่ำในระบบอินทรีย์พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการปรับปรุงดินการจัดการปุ๋ยและการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เหมาะสมสำหรับการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการระหว่างปี 2558 - 2560 ระยะเวลา 3 ปี ณ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยการทดลองการจัดการดินและปุ๋ยที่เหมาะสมในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบ ปรับสภาพดินตามค่าวิเคราะห์ดินและใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน (กรมวิชาการเกษตร, 2553) เปรียบเทียบกับกรรมวิธีเกษตรกรไม่มีการปรับสภาพดินและใส่ปุ๋ยตามอัตราและประมาณที่เกษตรกรเคยปฏิบัติ พบว่าการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน ในการผลิตผักกรีนคอสอินทรีย์ ผักกาดแก้วอินทรีย์ เร็ดโอ็คอินทรีย์ และกรีนโอ็คอินทรีย์ได้ ไม่สามารถสรุปผลการเพิ่มผลผลิตผักอินทรีย์ได้ชัดเจน เนื่องจากผลผลิตที่ได้จากการทดลองมีค่าไม่แน่นอน แต่สามารถลดต้นทุนการผลิต และให้อัตราผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่ายการลงทุน (BCR) ที่คุ้มค่า ส่วนการยอมรับเทคโนโลยี เกษตรกรมีแนวโน้มยอมรับเทคโนโลยีการใส่หมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน โดยปี 2560 เกษตรกรมีการใช้อัตราปุ๋ยในปริมาณที่ลดลงจากที่เคยใช้ปกติและอัตราใกล้เคียงกับการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน เนื่องจากเกษตรกรสังเกตว่าการใส่ปุ๋ยหมักเทียบเคียงค่าวิเคราะห์ดิน ให้ผลผลิตไม่แตกต่างจากอัตราปุ๋ยที่เกษตรกรใช้ การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดด้วงหมัดผักในการผลิตพืชผักตระกูลกะหล่ำในระบบอินทรีย์พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ประกอบด้วย 2 กรรมวิธี คือ กรรมวิธีทดสอบฉีดพ่นไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยในการป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชผัก เปรียบเทียบกับวิธีเกษตรกร ใช้น้ำส้มควันไม้ หรือบางรายไม่มีการจัดการใดๆ พบว่าไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยสามารถช่วยกำจัดและควบคุมแมลงศัตรู กวางตุ้ง คะน้า และกะหล่ำปลี เช่น ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้ หนอนใย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรรมวิธีทดสอบจะได้ผลผลิตและมีค่า BCR สูงกว่าวิธีเกษตรกร ส่วนการยอมรับของเกษตรกร พบว่าเกษตรกรมีการนำไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยไปฉีดแปลงผักเกือบทุกชนิดที่ปลูก เนื่องจากสามารถกำจัดหนอนในกวางตุ้งและคะน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ไฟล์แนบ
.pdf   46_2560.pdf (ขนาด: 674.58 KB / ดาวน์โหลด: 563)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม