การควบคุม กำกับดูแลการจำหน่ายปุ๋ยเคมีในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก
#1
การควบคุม กำกับดูแลการจำหน่ายปุ๋ยเคมีในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก
จิราภา เมืองคล้าย, ธีระพล ศิลกุล, ละเอียด ปั้นสุข, สุวิทย์ สอนสุข, อาภรณ์ ทองบุราณ, ทวีพร สุกใส, ทิตยา ประเสริฐกุล, รัตติญา คงเม่น, อำนาจ จันทร์กลิ่น, สุชาติ เจริญรัตน์, ชวฤทธิ์ เสือแก้ว, วรวุฒิ พานิชวัฒนะ, เชาวลิต รักบุญ, ชนาภัทร นาคา, สภาพร ใส้พงษ์, อมรา หาญจวนิช และวรรณรัตน์ ชุติบุตร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครสวรรค์ และกองวิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร

          สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 (สวพ.5) เป็นเขตที่มีพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากการควบคุมกำกับดูแลการจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรของ สวพ.5 ตั้งแต่ปี 2547 - 2560 พบว่าสถานที่จำหน่ายปุ๋ยที่ไม่มีใบอนุญาตลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือเพียงร้อยละ 1.1 ในปี 2560 ในทางกลับกันจากการสุ่มตัวอย่างของพนักงานเจ้าหน้าที่ พบว่าคุณภาพของปุ๋ยเคมีที่วางจำหน่ายมีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสูงสุดถึงร้อยละ 91.8 ในปี 2555 นอกจากการตรวจสถานที่จำหน่ายและสุ่มตรวจคุณภาพปัจจัยการผลิตแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ของ สวพ.5 ยังได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลการออกใบอนุญาตจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตร จนสามารถลดระยะเวลาการออกใบอนุญาตจาก 1 ชม./ฉบับ เหลือเพียง 5 นาที/ฉบับ เพื่อรองรับการวิเคราะห์คุณภาพของตัวอย่างปุ๋ยเคมีจากการสุ่มตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิต จึงได้ขยายการให้บริการวิเคราะห์ปุ๋ยเคมีในปี 2551 และเนื่องจากผลการวิเคราะห์ถูกใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีทางกฎหมาย กลุ่มพัฒนาการตรวจสอบพืชและปัจจัยการผลิตจึงยื่นขอการรับรอง ISO/IEC 17025: 2005 ห้องปฏิบัติการปุ๋ยเคมีใน ปี 2555 และได้รับการรับรองในปี 2556 ในส่วนของการดำเนินคดีของผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย สวพ.5 ได้กล่าวโทษร้องทุกข์ 286 คดี ศาลมีคำพิพากษาตัดสินแล้ว 77 คดี ซึ่งทั้ง 77 คดี ผู้พิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดทุกราย


ไฟล์แนบ
.pdf   13_2560.pdf (ขนาด: 372.37 KB / ดาวน์โหลด: 639)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม