09-11-2018, 02:37 PM
ทดสอบและขยายผลระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก
อรุณี แท่งทอง, หฤทัย แก่นลา, ธัญมน สังข์ศิริ, สุชาดา ศรีบุญเรือง, สาลี่ ชินสถิต และสุรเดช ปัจฉิมกุล
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี
อรุณี แท่งทอง, หฤทัย แก่นลา, ธัญมน สังข์ศิริ, สุชาดา ศรีบุญเรือง, สาลี่ ชินสถิต และสุรเดช ปัจฉิมกุล
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรฉะเชิงเทรา และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี
ทดสอบและขยายผลระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ดำเนินการในแหล่งผลิตพืชผักของพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี มีเกษตรกรร่วมดำเนินงานจังหวัดละ 10 ราย ในปี 2559 - 2560 เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี และระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ตามมาตรฐาน มกษ. 9000 เล่ม1 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่การผลิตพืชผักอินทรีย์ และจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น การดำเนินงานประกอบด้วย 2 กิจกรรม ซึ่งสรุปผลได้ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 ประกอบด้วย 2 การทดลอง คือ การทดสอบระบบการผลิตพืชผักหมุนเวียนและการทดสอบระบบการผลิตพืชผักแบบพืชแซมในระบบเกษตรอินทรีย์ พบว่าการทดสอบระบบการผลิตพืชผักหมุนเวียน วิธีแนะนำปลูกมะระจีน - ถั่วพู - มะเขือเปราะ หมุนเวียนในระบบเกษตรอินทรีย์ได้ผลผลิตเฉลี่ย 2,334 1,481 และ 1,232 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งทั้งระบบ มีต้นทุนการผลิต 21,385 บาทต่อไร่ ได้ผลตอบแทน 33,083 บาทต่อไร่ และมีอัตราส่วนรายได้ต่อการลงทุน (BCR) เท่ากับ 2.5 โดยมีค่า BCR และได้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีเกษตรกรซึ่งปลูกมะระจีน - มะระจีน - มะระจีน ซ้ำในพื้นที่คิดเป็นเงิน 1,910 บาทต่อไร่ สำหรับการทดลองที่สองทดสอบระบบการผลิตพืชผักแบบพืชแซมในระบบเกษตรอินทรีย์ โดยวิธีแนะนำปลูกมะเขือเทศร่วมกับดาวเรืองพบว่า วิธีแนะนำได้ผลผลิตเฉลี่ยมะเขือเทศ และดาวเรือง 459 กิโลกรัมต่อไร่ และ 6,120 ดอกต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งทั้งระบบมีต้นทุนการผลิต 10,415 บาทต่อไร่ ได้ผลตอบแทน 18,535 บาทต่อไร่ และมีค่า BCR เท่ากับ 2.8 โดยมีค่า BCR และได้ผลตอบแทนมากกว่าวิธีเกษตรกรที่ปลูกมะเขือเทศพืชเดียว 6,660 บาทต่อไร่ โดยทั้งสองการทดลองวิธีแนะนำมีการเข้าทำลายของโรคและแมลงน้อยกว่าวิธีเกษตรกร กิจกรรมที่ 2 สร้างศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลเทคโนโลยีระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์สู่แปลงเกษตรกร ผลการดำเนินงาน สร้างศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชผักอินทรีย์จำนวนสองพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ ศพก.อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี และศพก.อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้เผยแพร่องค์ความรู้โดยทำการผลิตสื่อวีดีทัศน์ จำนวน 3 เรื่อง และจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรทั้งหมด 10 ครั้ง จำนวนเกษตรกรเข้ารับการอบรมรวม 413 ราย รวมทั้งมีเกษตรกรร่วมดำเนินงานสร้างแปลงขยายผลผลิตพืชผักอินทรีย์ 53 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จำนวน 30 ราย และอยู่ในระยะปรับเปลี่ยน 5 ราย ซึ่งจากการประเมินผลความคิดเห็นของเกษตรกรที่ร่วมดำเนินงานต่อเทคโนโลยีที่ได้แนะนำในระบบการผลิตพืชผักอินทรีย์ด้านต่างๆ พบว่าเกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดไปใช้ได้จริงระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 80 รวมทั้งช่วยทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 47 รายคิดเป็นร้อยละ 89