ศึกษาการจัดการเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพในช่วงฤดูแล้งภาคเหนือตอนล่าง (จ.สุโขทัย)
#1
ศึกษาการจัดการเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพในช่วงฤดูแล้งภาคเหนือตอนล่าง (จ.สุโขทัย)
ทวีศักดิ์  แสงอุดม, เพ็ญจันทร์  สุทธานุกูล, วรางคณา  มากกกำไร และมลุลี  บุญเรือง
สถาบันวิจัยพืชสวน และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย

          การจัดการเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่ในช่วงฤดูแล้งเขตภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดสุโขทัย เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพส่งออก ระหว่างตุลาคม 2554 - กันยายน 2557 โดยศึกษาการปลูก  2 ระบบ คือ ปลูกเป็นพืชเดี่ยวและปลูกแซมระหว่างแถวมะม่วง มีการให้น้ำแบบ  Minisprinkle และ Minisprinkle + Mist spray รวมทั้งการจัดการหวีสุดท้าย โดยการตัดหวีตีนเต่า และไม่ตัดหวีตีนเต่า ทำ 4 ซ้ำ ซ้ำละ 25 ต้น ผลการทดลองพบว่า การปลูกกล้วยไข่เป็นพืชแซมในสวนมะม่วงให้น้ำหนักเครือรุ่นแม่ระหว่าง 6.95 - 7.44 กิโลกรัม รุ่นหน่อ 4.77 - 4.87 กิโลกรัม ผลผลิตกล้วยไข่ที่ได้ให้น้ำหนักเครือ จำนวนหวีต่อเครือ  เปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือ และน้ำหนักหวีที่ได้มาตรฐานส่งออกมากกว่าการปลูกเป็นพืชเดี่ยวทั้งรุ่นแม่และรุ่นหน่อ ส่วนการจัดการน้ำทั้ง 2 แบบ ไม่มีผลต่อผลผลิตและคุณภาพ แต่การให้น้ำแบบมินิสปริงค์เกอร์ร่วมกับการพ่นฝอย (mist spray) ให้ความกว้างผลและน้ำหนักผลมากกว่าการให้น้ำแบบมินิสปริงค์เกอร์  ส่วนการตัดหวีสุดท้าย (ตีนเต่า) ก่อนการห่อเครือจะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์หวีที่ได้มาตรฐานต่อเครือและน้ำหนักหวีมาตรฐานมากกว่าการไม่ตัดหวีสุดท้าย ด้านการหักล้มพบว่า การปลูกในสภาพแปลงเดี่ยวรุ่นแม่และรุ่นหน่อมีการหักล้ม 2.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการปลูกเป็นพืชแซมรุ่นแม่ไม่มีการหักล้ม ส่วนรุ่นหน่อหักล้ม 2.5 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน ด้านผลตอบแทนพบว่า การปลูกกล้วยไข่เป็นพืชเดี่ยวในปีแรกมีต้นทุนค่อนข้างสูงโดยมีค่าระบบน้ำ และเมื่อคิดต้นทุนและผลตอบแทนแล้วทำให้ขาดทุน 3,280 บาท/ไร่ ส่วนในรุ่นหน่อจะประหยัดต้นทุนในเรื่องของต้นพันธุ์ ระบบน้ำ และถุงห่อทำให้มีกำไรสุทธิ 11,000 บาท/ไร่ ส่วนการปลูกแซมในรุ่นแม่มีกำไรสุทธิ 4,410 บาท/ไร่ ส่วนในรุ่นหน่อมีกำไรสุทธิ 18,540 บาท/ไร่


ไฟล์แนบ
.pdf   233_2557.pdf (ขนาด: 670.58 KB / ดาวน์โหลด: 1,066)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม