การผลิตปัญจขันธ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
#1
การผลิตปัญจขันธ์เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพ
จรัญ  ดิษฐไชยวงศ์, เสงี่ยม แจ่มจำรูญ, ศศิธร วรปิติรังสี, ศุจิรัตน์ สงวนรังศิริกุล และแสงมณี  ชิงดวง
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร, ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย, ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น, สถาบันวิจัยพืชสวน

          ปัญจขันธ์เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งมีสรรพคุณทางเภสัชวิทยามากมายมีสารสำคัญชื่อซาโปนินเช่นเดียวกับโสม งานวิจัยนี้เพื่อให้ได้พันธุ์ วิธีการปลูกและอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มาตรฐานสารสำคัญกำหนดให้มีปริมาณซาโปนินรวมในปัญจขันธ์ต้องไม่น้อยกว่า 8 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม ปลูกทดสอบปัญจขันธ์ 3 พันธุ์ คือ พันธุ์สิบสองปันนา พันธุ์อ่างขาง และพันธุ์พื้นเมืองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ปลูกแบบไม่ขึ้นค้าง ภายใต้ตาข่ายพรางแสง 40% พบว่า พันธุ์สิบสองปันนาให้น้ำหนักสดสูงสุด 6,310 กก./ไร่ แตกต่างกันทางสถิติกับพันธุ์อ่างขาง และพันธุ์พื้นเมืองซึ่งให้น้ำหนักสดรองลงมาคือ 5,446 และ 2,223 กก./ไร่ ตามลำดับ พันธุ์สิบสองปันนาให้น้ำหนักแห้งสูงสุด 797 กก./ไร่ ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับพันธุ์อ่างขาง ซึ่งให้น้ำหนักแห้งรองลงมาคือ 754 กก./ไร่ แตกต่างกันทางสถิติกับพันธุ์พื้นเมืองซึ่งให้น้ำหนักแห้งต่ำสุด 355 กก./ไร่ ผลการวิเคราะห์ปริมาณซาโปนินรวมพบว่า พันธุ์พื้นเมืองให้ปริมาณซาโปนินรวมสูงสุด 10.92 กรัม/น้ำหนักแห้ง  100 กรัม ไม่แตกต่างกันทางสถิติกับพันธุ์อ่างขางซึ่งให้ปริมาณซาโปนินรวมรองลงมาคือ 10.15 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม แต่แตกต่างกันทางสถิติกับพันธุ์สิบสองปันนา ซึ่งให้ปริมาณซาโปนินรวมต่ำสุดคือ 8.74 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม ศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของปัญจขันธ์ 3 พันธุ์พบว่า พันธุ์สิบสองปันนาและพันธุ์อ่างขางมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรม 68.12% และพันธุ์พื้นเมือง มีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับทั้งสองพันธุ์ 49% ศึกษาวิธีการปลูกและอายุเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมพบว่า ปลูกปัญจขันธ์พันธุ์พื้นเมืองแบบไม่ขึ้นค้างเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 เดือนให้ผลผลิตสูงสุดคือ ให้น้ำหนักสด 3,272 กก./ไร่ น้ำหนักแห้ง 468 กก./ไร่ การปลูกแบบไม่ขึ้นค้างและขึ้นค้าง ให้ปริมาณซาโปนินรวมไม่แตกต่างกันทางสถิติคือ 10.72 และ 10.64 กรัม/น้ำหนักแห้ง 100 กรัม ตามลำดับ ดังนั้นการปลูกปัญจขันธ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง พันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ พันธุ์สิบสองปันนา รองลงมาคือ พันธุ์อ่างขาง และพันธุ์พื้นเมือง ตามลำดับ พันธุ์ที่ให้ปริมาณสารสำคัญสูงสุดคือ พันธุ์พื้นเมือง รองลงมาคือ พันธุ์อ่างขาง และพันธุ์สิบสองปันนา ตามลำดับ การปลูกแบบไม่ขึ้นค้างให้ผลผลิตสูงสุด และมีปริมาณสารสำคัญตรงตามมาตรฐาน


ไฟล์แนบ
.pdf   1867_2554.pdf (ขนาด: 175.19 KB / ดาวน์โหลด: 758)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม