การเปรียบเทียบพันธุ์พลูคาว
#1
การเปรียบเทียบพันธุ์พลูคาว
มณทิรา ภูติวรนาถ, สุพัฒนกิจ โพธิ์สว่าง, แสงมณี ชิงดวง, ประนอม  ใจอ้าย, วิภาดา แสงสร้อย และสากล  มีสุข
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยพืชสวน

          จากการทดลองเปรียบเทียบพันธุ์พลูคาว ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ในปี 2556 และ 2557 โดยวางแผนการทดลองแบบ RCB มีพันธุ์พลูคาว 9 พันธุ์ (กรรมวิธี) 3 ซ้ำ ได้แก่ พันธุ์ใบแดงเชียงราย พันธุ์ใบแดงพิษณุโลก พันธุ์ใบแดงเชียงใหม่ พันธุ์ใบเขียวลำปาง พันธุ์ใบเขียวแพร่ พันธุ์ใบเขียวสุโขทัย พันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 พันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 ปลูกในแปลงขนาด 1 x 3 ตารางเมตร ใช้ระยะปลูก 15 x 20 เซนติเมตร ปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เก็บเกี่ยวผลผลิตในพื้นที่ 1 ตารางเมตร เมื่อพลูคาวอายุ 6 เดือนหลังปลูก โดยตัดสูงจากพื้น 1 นิ้ว ล้างให้สะอาด นำไปอบในตู้อบที่อุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส นาน 72 ชั่วโมง และส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญ Rutin และ Quercitrin  ที่ห้องปฏิบัติการกลาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยงานทดลองที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ ในปี 2556 พบว่า พลูคาวใบแดงและพลูคาวใบเขียว มีความสูงไม่แตกต่างกันทางสถิติ โดยพันธุ์ใบเขียวแพร่มีความสูง และ น้ำหนักสดสูงสุด คือ 37.39 เซนติเมตร และ 3,417 กรัม/ตารางเมตร และมีน้ำหนักแห้ง 327 กรัม/ตารางเมตร  ส่วนในปี 2557 พบว่า พลูคาวใบแดงพิษณุโลกมีความสูงมากที่สุด คือ 37.59 เซนติเมตร ส่วนพลูคาวใบแดงเชียงใหม่ มีน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งสูงสุด คือ 3,560 และ 350 กรัม/ตารางเมตร ซึ่งไม่แตกต่างทางสถิติกับพันธุ์ใบเขียวแพร่  พลูคาวก้านม่วงแพร่ 2 มีปริมาณสาร Rutin และQuercitrin สูงสุด คือ 1.57 และ 2.60  มิลลิกรัมต่อกรัม และจากผลการวิเคราะห์ยังพบว่า พลูคาวก้านม่วงทั้ง 3 แหล่งปลูกมีปริมาณสารสำคัญทั้ง 2 ชนิดสูงกว่าพลูคาวใบแดงและพลูคาวใบเขียว และงานทดลองที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ซึ่งความสูงจากระดับน้ำทะเล 320 เมตร พบว่า เมื่อปลูกรักษาเป็นระยะเวลา 6 เดือน ไม่พบความแตกต่างของการเจริญในแนวราบด้านข้างเมื่อพิจารณาจากเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่ม แต่มีความแตกต่างของการเจริญเติบโตในแนวตั้งด้านความสูงต้นโดยพบว่า สายพันธุ์ใบแดงเชียงใหม่มีความสูงต้นมากที่สุด คือ 35.27 เซนติเมตร ซึ่งไม่แตกต่างจากสายพันธุ์ใบแดงพิษณุโลก สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 สายพันธุ์ใบแดงเชียงราย และสายพันธุ์ใบเขียวแพร่ ที่มีความสูงต้นเท่ากับ 34.57, 34.37, 32.50, 32.50 และ 31.43 เซนติเมตร ตามลำดับ แต่แตกต่างจากสายพันธุ์ใบเขียวลำปาง และสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 ที่ต้นมีความสูงที่น้อยกว่า 6 สายพันธุ์ดังกล่าว คือ 30.40 และ 30.23 เซนติเมตร ตามลำดับ ด้านจำนวนใบต่อต้นพบว่า สายพันธุ์ใบแดงเชียงราย มีจำนวนใบต่อต้นสูงที่สุด คือ 8.47 ใบ ซึ่งไม่แตกต่างกับสายพันธุ์อื่นๆ ยกเว้นสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 ที่มีจำนวนใบต่อต้นน้อยที่สุด คือ 6.63 ใบ และเมื่อพิจารณาจากน้ำหนักสดต่อพื้นที่ปลูก 1 ตารางเมตร พบว่า สายพันธุ์ใบเขียวลำปาง สายพันธุ์ใบแดงพิษณุโลก สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และสายพันธุ์ใบเขียวสุโขทัย จัดเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่มีผลผลิตน้ำหนักสดต่อตารางเมตรที่สูง คือ 2,450 2,250 2,150 และ 2,050 กรัม ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 สายพันธุ์ใบแดงเชียงราย สายพันธุ์ใบแดงเชียงใหม่ และสายพันธุ์ใบเขียวแพร่ จัดเป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่มีผลผลิตน้ำหนักสดต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่ากลุ่มแรก คือ 1,250, 1,150 1,000 และ 1,000 กรัม ตามดำดับ แต่น้าหนักแห้งไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และเมื่อนำผลผลิตสดไปวิเคราะห์หาปริมาณสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ Quercitin และ Rutin พบว่า สายพันธ์ก้านม่วงแพร่ 1 สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 มีแนวโน้มพบสารสำคัญ Quercitin ในผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์อื่น คือ 2.68 ± 0.04, 2.22 ± 0.16, และ 1.79 ± 0.21 (mg/g DW) ตามลำดับ ส่วนสารสำคัญ Rutin มีแนวโน้มพบมากที่สุดในพลูคาวสายพันธุ์ใบเขียวลำปาง สายพันธุ์ใบเขียวแพร่ และสายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 3 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 1.25 ± 0.07, 0.94 ± 0.21 และ 0.87 ± 0.09 (mg/g DW) ตามลำดับ ดังนั้นหากต้องการพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงจึงควรเลือกใช้พลูคาวพันธุ์ใบเขียวหรือพันธุ์ใบแดง แต่หากต้องการปริมาณสารสำคัญสูงควรเลือกใช้พลูคาวก้านม่วง


ไฟล์แนบ
.pdf   184_2557.pdf (ขนาด: 353.72 KB / ดาวน์โหลด: 4,667)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม