การศึกษาการพักตัวของเมล็ดพันธุ์งาแดงสายพันธุ์ A30-15
#1
การศึกษาการพักตัวของเมล็ดพันธุ์งาแดงสายพันธุ์ A30-15
ศิริรัตน์ กริชจนรัช, สายสุนีย์ รังสิปิยกุล, กัลยารัตน์ หมื่นวณิชกูล, จุไรรัตน์ หวังเป็น, สมหมาย วังทอง และสมพงษ์  ชมภูนุกูลรัตน์
ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี

          การศึกษาการพักตัวของเมล็ดงาแดง สายพันธุ์ A30-15 หรืองาแดง พันธุ์อุบลราชธานี 2 ซึ่งเป็นงาพันธุ์แนะนำพันธุ์ใหม่ของกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี เริ่มการทดลองใน ปี 2556 โดยการปลูกงา 2 ฤดูกาล คือ ปลายฤดูฝน (สิงหาคม - กันยายน 2555) และต้นฤดูฝน (พฤษภาคม 2556) พบว่าเมล็ดงาที่ได้จากการปลูกในปลายฤดูฝน ไม่มีการพักตัวของเมล็ด (ความงอกมากกว่าร้อยละ 90) ส่วนเมล็ดที่ได้จากการปลูกในต้นฤดูฝนจะมีการพักตัว (ความงอกร้อยละ 30 - 35) ดังนั้น จึงนำเมล็ดจากต้นฤดูฝนมาทำการทดลองเบื้องต้น เพื่อหาช่วงของการคลายการพักตัวตามธรรมชาติ และระยะที่เหมาะสมในการอบเมล็ดด้วยตู้อบลมร้อน (70 องศาเซลเซียส) และการตากแดด เพื่อใช้ในการแก้การพักตัว โดยทดลองเป็นเวลานาน 3 - 5 วัน เมล็ดที่ผ่านการอบและตากแดด ดังกล่าว นำมาเก็บรักษาในห้องเก็บเมล็ดพันธุ์ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส นาน 2 ปี และทำการสุ่มเพาะความงอกทุก 15 วัน พบว่าระยะเวลาที่เหมาะสมในการอบเมล็ดด้วยตู้อบลมร้อน (70 องศาเซลเซียส) และการตากแดด คือ 3 วัน ซึ่งสามารถแก้การพักตัวของเมล็ดได้ นอกจากนี้ยังไม่มีผลต่อเมล็ดพันธุ์ตลอด 2 ปีการเก็บรักษา โดยเมล็ดมีความงอกร้อยละ 90 - 94 ตลอดการเก็บรักษา การทดลองปี 2557 ดำเนินการเฉพาะในฤดูฝน (มิถุนายน) และเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน นำเมล็ดมาใช้ทดลองแก้การพักตัว โดยวางแผนการทดลอง แบบ CRD มี 4 ซ้ำ กรรมวิธี คือ วิธีการทำลายการพักตัว มี 6 วิธี ได้แก่ 1. เมล็ดที่ไม่ได้ผ่านการทำลายการพักตัวของเมล็ด (check) 2. การให้ความร้อนแก่เมล็ดโดยตากแดดจัด 3 แดด 3. การให้ความร้อนแก่เมล็ดโดยการอบเมล็ดด้วยตู้อบลมร้อน (hot air oven) ที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน 4. การให้ความร้อนแก่เมล็ดโดยการปล่อยลมร้อนผ่านเมล็ด (hot air dryer) ที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน 5. การคลุกเมล็ดด้วยอีเทรล และ 6. การคลุกเมล็ดด้วยฮอร์โมนจิบเบอร์เรลลิค แอซิด (GA3) ผลการทดลองพบว่า การคลุกเมล็ดด้วยสารละลายจิบเบอร์เรลลิค แอซิด สามารถทำลายการพักตัวของเมล็ดได้ดีที่สุด รองลงมา คือ การอบเมล็ดด้วยเครื่องอบลมร้อน ที่ 70 องศาเซลเซียส นาน 3 วัน ส่วนการให้ความร้อนแก่เมล็ดโดยตากแดดจัด 3 แดด และการคลุกเมล็ดด้วยอีเทรล ไม่สามารถทำลายการพักตัวของเมล็ดได้ 


ไฟล์แนบ
.pdf   130_2557.pdf (ขนาด: 126.93 KB / ดาวน์โหลด: 931)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม