ทดสอบเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยพืชสดที่เหมาะสมต่อการปลูกงาในสภาพนาอินทรีย์
#1
ทดสอบเทคโนโลยีการใช้ปุ๋ยพืชสดที่เหมาะสมต่อการปลูกงาในสภาพนาอินทรีย์
บุญเหลือ ศรีมุงคุณ, มัตติกา ทองรส, อรอนงค์ วรรณวงษ์, ลักขณา ร่มเย็น และสมพงษ์ ชมภูนุกูลรัตน์
ศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจังหวัดสุรินทร์ 

          ดำเนินการในสภาพนาอินทรีย์จังหวัดอุบลราชธานี ไม่มีแผนการทดลอง 4 กรรมวิธี คือ 1. ปลูกถั่วพุ่มอัตรา 10 กก./ไร่ 2. ปลูกถั่วพร้าอัตรา 15 กก./ไร่ 3. ปลูกปอเทืองอัตรา 5 กก./ไร่ 4. ไม่ใช้ปุ๋ยพืชสดก่อนปลูกงา ทำการไถกลบปุ๋ยพืชสดหลังปลูก 45 วัน ไถกลบทิ้งไว้ 15 วันก่อนปลูกงา ปี 2556 พบว่าก่อนปลูกดินมีค่าความเป็นกรด - ด่างอยู่ระหว่าง 5.12 - 5.38 อินทรียวัตถุ 0.41 - 0.88% ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ได้ในดิน 2.16 - 6.72 มก./กก. โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน 12.50 - 29.50 มก./กก. หลังเก็บเกี่ยวในกรรมวิธีที่ปลูกถั่วพุ่มเป็นปุ๋ยพืชสดมีค่าความเป็นกรด - ด่างลดลง อินทรียวัตถุลดลงทุกกรรมวิธี ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ได้ในดิน โพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน และธาตุอาหารรองมีค่าเพิ่มขึ้นทุกกรรมวิธี สำหรับผลผลิตงา การปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสดให้ผลผลิตสูงสุด 73.45 กก./ไร่ และการไม่ใช้ปุ๋ยพืชสดงาให้ผลผลิตต่ำที่สุด 43.40 กก./ไร่ ในขณะที่การใช้ถั่วพุ่มและถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสดงาให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน คือ 55.22 และ 50.87 กก./ไร่ ตามลำดับ ทางด้านการเจริญเติบโตวัดจากความสูงเมื่อเก็บเกี่ยวพบว่า การใช้ปอเทืองงามีความสูงมากที่สุด 116.4 เซนติเมตร และการไม่ใช้ปุ๋ยพืชสดงามีความสูงน้อยที่สุด 96.6 เซนติเมตร ปี 2557 ทำการทดสอบ 2 สถานที่ คือ นาอินทรีย์ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุรินทร์ ที่จังหวัดอุบลราชธานี พบว่าการใช้ถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสด งาให้ผลผลิตสูงสุด 69.20 กก./ไร่ รองลงมา ได้แก่ การใช้ปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด ให้ผลผลิต 58.04 กก./ไร่ ในขณะที่การใช้ถั่วพุ่มเป็นปุ๋ยพืชสด ให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการไม่ใช้ปุ๋ยพืชสด คือ 49.90 และ 43.32 กก./ไร่ ตามลำดับ ทางด้านองค์ประกอบผลผลิต ทุกกรรมวิธีให้ค่าใกล้เคียงกัน สำหรับการเจริญเติบโตวัดจากความสูงเมื่อเก็บเกี่ยว พบว่า การใช้ปุ๋ยพืชสดงามีแนวโน้มที่จะมีความสูงมากกว่าการไม่ใช้ปุ๋ยพืชสด คือ การใช้ปุ๋ยพืชสดมีความสูงอยู่ระหว่าง 106.9-117.9 เซนติเมตร ในขณะที่การไม่ใช้ปุ๋ยพืชสดมีความสูง 97.55 เซนติเมตร ทางด้านคุณสมบัติทางเคมีของดิน การใช้ปุ๋ยพืชสดหลังเก็บเกี่ยว มีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้นมากกว่าการไม่ใช่ปุ๋ยพืชสด ที่จังหวัดสุรินทร์ ก่อนปลูกงา ดินมีค่าความเป็นกรด - ด่าง 4.74 อินทรียวัตถุ 1.01% ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ได้ในดิน 2.95 มก./กก. และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ในดิน 13 มก./กก. สำหรับผลผลิตงาใกล้เคียงกันทุกกรรมวิธี คือ อยู่ระหว่าง 85.33 - 113.58 กก./ไร่ ในกรรมวิธีที่ไม่ปลูกปุ๋ยพืชสดมีจำนวนต้นเก็บเกี่ยวน้อยที่สุด ทำให้มีความสูงเมื่อเก็บเกี่ยวสูงที่สุด คือ 90.70 เซนติเมตร


ไฟล์แนบ
.pdf   120_2557.pdf (ขนาด: 166.92 KB / ดาวน์โหลด: 3,343)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 3 ผู้เยี่ยมชม