01-13-2017, 12:52 PM
การศึกษาผลของอายุการเก็บเกี่ยวที่มีต่อการปนเปื้อนโลหะหนักในส่วนของผลผลิตหัวสด และมันเส้น
กัญญรัตน์ จำปาทอง, เมธาพร พุฒขาว, กฤชพร ศรีสังข์, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, ทิพดารุณี สิทธินาม, กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช, ขวัญตา มีกลิ่น, เพราพิลาส ขวาสระแก้ว, สุรสิทธิ์ อรรถจารุสิทธุ์, วนิดา โนบรรเทา และศราริน กลิ่นโพธิ์กลับ
กัญญรัตน์ จำปาทอง, เมธาพร พุฒขาว, กฤชพร ศรีสังข์, สิทธิพงศ์ ศรีสว่างวงศ์, ทิพดารุณี สิทธินาม, กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช, ขวัญตา มีกลิ่น, เพราพิลาส ขวาสระแก้ว, สุรสิทธิ์ อรรถจารุสิทธุ์, วนิดา โนบรรเทา และศราริน กลิ่นโพธิ์กลับ
เพื่อศึกษาอายุการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังที่เหมาะสมที่สามารถลดการปนเปื้อนโลหะหนักในหัวมันสดในแต่ละแหล่งปลูกที่สำคัญของประเทศ วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 4 ซ้ำ มี 6 กรรมวิธี คือ อายุเก็บเกี่ยว 8 10 12 14 16 และ 18 เดือน ทำการทดลอง 4 จังหวัดนำร่องที่มีปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในมันสำปะหลัง คือ จังหวัดกาญจนบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก และกำแพงเพชร ใช้พันธุ์มันสำปะหลังที่เกษตรกรนิยมปลูกในแต่ละพื้นที่ ทำการทดลองตั้งแต่ปี 2555 - 2557 ผลการทดลองพบว่า ปริมาณโลหะหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอายุการเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น และปริมาณโลหะหนักที่พบในมันเส้นมีค่ามากกว่าหัวมันสด โดยในจังหวัดกาญจนบุรี พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสดทุกช่วงอายุเก็บเกี่ยว ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน พบค่าอยู่ระหว่าง 0.03 - 0.15 มก./กก. ในขณะที่มันเส้น ที่อายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 12 เดือน พบต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จังหวัดกำแพงเพชร พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสด ทุกช่วงอายุเก็บเกี่ยว ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน พบค่าอยู่ระหว่าง 0.04 - 0.16 มก./กก. ในขณะที่มันเส้น ที่อายุเก็บเกี่ยวไม่เกิน 12 เดือน พบต่ำกว่าค่ามาตรฐาน จังหวัดขอนแก่น พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสด และมันเส้น เกินค่ามาตรฐานทุกอายุการเก็บเกี่ยว พบค่าอยู่ระหว่าง 0.22 - 0.62 และ 0.42 - 2.56 มก./กก. ตามลำดับ จังหวัดพิษณุโลก พบปริมาณตะกั่วในหัวมันสด ที่อายุ 8 14 และ 16 เดือน เกินค่ามาตรฐาน มีค่า 0.21 0.33 และ 0.39 มก./กก. ตามลำดับ ในมันเส้นเกินค่ามาตรฐานทุกอายุการเก็บเกี่ยว พบค่าอยู่ระหว่าง 0.26 - 1.65 มก./กก. สำหรับปริมาณสารหนู และแคดเมียม ในหัวมันสด และมันเส้น ทั้ง 4 จังหวัด พบต่ำกว่าค่ามาตรฐานทุกอายุการเก็บเกี่ยว การที่มันสำปะหลังดูดดึงปริมาณโลหะหนักแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดดิน ค่า pH และอินทรียวัตถุในดิน เมื่อค่า pH ของดินเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณโลหะหนักละลายออกมาสู่สารละลายดินน้อยลง ทำให้พืชดูดดึงตะกั่วลดลง ดังนั้นปริมาณโลหะหนักที่สะสมในพืชจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น หากดินนั้นมี pH เป็นกรด และมีปริมาณอินทรียวัตถุในดินต่ำ