วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสำรองในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก
#1
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสำรองในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก
ชูชาติ วัฒนวรรณ, กมลภัทร ศิริพงษ์, ชลธิชา กลิ่นเกษร, เฉลิมพล ชุ่มเชยวงค์, สุเมธ พากเพียร, สุปรียา ศุขเกษม และศุภมาศ กลิ่นขจร
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี, ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ 
และกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บ เกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

ศึกษาวิจัยการจัดทำแปลงสำรองในสภาพแปลงปลูก
กมลภัทร ศิริพงษ์, ชูชาติ วัฒนวรรณ และชลธิชา กลิ่นเกสร
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

          การศึกษาวิจัยการจัดทำแปลงสำรองในสภาพแปลงปลูก เพื่อศึกษาการเจริญเติบโตและลักษณะภายนอกที่แสดงออกของต้นและใบสำรอง (Phenotype) จากแหล่งพันธุ์ต่างๆ ในสภาพแปลงปลูก ดำเนินการที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ระยะเวลาตุลาคม 2555 - กันยายน 2558 โดยคัดเลือกสายต้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตคุณภาพดีจากแหล่งพันธุ์ 4 แห่ง ได้แก่ 1) พื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออกวิทยาเขตจันทบุรี จ.จันทบุรี 2) พื้นที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี จ.จันทบุรี 3) พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี และ 4) พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี มาขยายพันธุ์โดยการเสียบยอดบนต้นตอเพาะเมล็ด แล้วนำไปปลูกในแปลงโดยใช้ระยะปลูก 8 X 8 เมตร เมื่อศึกษาการเจริญเติบโตและพัฒนาการในระยะ 3 ปี พบว่าสายต้นสำรองจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มการเจริญเติบโตมากที่สุด ทั้งในด้านขนาดเส้นรอบวงลำต้นเท่ากับ 14.7 เซนติเมตร ความสูงเท่ากับ 180 เซนติเมตร และทรงพุ่มเท่ากับ 95.3 เซนติเมตร รองลงมา ได้แก่ สายต้นสำรองจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี อ.มะขาม จ.จันทบุรี และจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก อ.คิชกูฏ จ.จันทบุรี ส่วนสายต้นสำรองจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี มีอายุต้นน้อยกว่าสายต้นอื่นๆ 1 ปี จึงแสดงอัตราการเจริญเติบโตน้อยที่สุด ทั้งนี้แต่ละสายต้นแสดงลักษณะของต้นและใบเช่นเดียวกัน คือ ลำต้นสีน้ำตาลแดงและใบอ่อนมีสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมน้ำตาล มีหูใบรูปลิ่มที่โคนก้านใบ ใบเปลี่ยนเป็นสีเขียวและหูใบหลุดร่วงเมื่อใบพัฒนาพัฒนามากขึ้น ที่ผิวของยอดอ่อน หูใบ และก้านใบอ่อนมีขนสั้นสีน้ำตาลอมชมพูคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม เมื่อใบอ่อนพัฒนามากขึ้นและหูใบหลุดขนดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบพัฒนาเต็มที่มีสีเขียวรูปไข่แกมใบหอกมีทั้งโคนใบมนและโคนใบแหลม และยังพบใบรูปสามเหลี่ยมโคนใบตัดที่อาจพบได้ในต้นเดียวกัน

เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวลูกสำรอง
ชูชาติ วัฒนวรรณ, กมลภัทร ศิริพงษ์ และเฉลิมพล ชุ่มเชยวงค์
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี

          พัฒนาการออกดอก และการเจริญเติบโตของผลสำรองพบว่า สำรองติดผลในแปลงปลูกและในสภาพป่าเริ่มจากเมื่อเข้าสู่สภาวะแล้ง ประมาณเดือนมกราคม ต้นสำรองจะทิ้งใบ จนมีใบเหลือบนต้น 0 - 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาประมาณ 30 วัน จะผลิใบอ่อนออกมาพร้อมดอกที่ปลายยอด มีการพัฒนาต่อจนดอกบาน ใช้เวลาประมาณ 20 - 25 วันดอกเริ่มบาน จากนั้นจะเริ่มเห็นสำเภาพัฒนามาก่อนและมีเมล็ดเล็กๆ ที่ส่วนปลาย หลังเริ่มดอกบานประมาณ 60 วัน สำเภาจะเริ่มเปลี่ยนสีจากเขียวเป็นสีน้ำตาล และปลิวไปตามลมเมื่ออายุประมาณ 70 วัน

การแปรรูปและการใช้ประโยชน์จากผลสำรอง
สุปรียา ศุขเกษม และศุภมาศ กลิ่นขจร
กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตรกองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร

          การผลิตสารให้ความคงตัวจากลูกสำรอง เพื่อเพิ่มการใช้ประโยชน์ลูกสำรองที่เป็นพืชพื้นเมืองทางภาคตะวันออกของไทย ดำเนินการที่กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตรในปี 2556 - 2558 โดยการแยกเนื้อจากผลสำรองแห้งมาบดเป็นผง การแยกวุ้นสำรองมาทำให้แห้งด้วยตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส และทำให้แห้งด้วยเครื่องทำแห้งแบบลูกกลิ้ง พบว่าผงเนื้อสำรอง ผงวุ้นสำรองอบแห้ง และผงวุ้นสำรองทำแห้งด้วยเครื่องทำแห้งแบบลูกกลิ้งที่ได้มีสีน้ำตาลเข้ม มีปริมาณน้ำอิสระน้อยกว่า 0.6 ปริมาณความชื้น 13.11, 4.86 และ 5.53% ปริมาณน้ำมัน 0.31, 0.15 และ 0.11% ปริมาณโปรตีน 4.05, 4.21 และ 4.40% ปริมาณเส้นใย 10.98, 11.26 และ 11.93% ปริมาณเถ้า 6.03, 6.19 และ 5.94% และปริมาณคาร์โบไฮเดรท 65.52, 73.33 และ 72.09% ตามลำดับ เมื่อนำมาเติมในน้ำมังคุดผสมใยอาหารพบว่า น้ำมังคุดผสมผงวุ้นสำรองจากการอบแห้งปริมาณ 3% โดยน้ำหนัก ได้รับคะแนนความชอบรวมสูงสุด การเติมผงสำรองในน้ำสลัดมังคุดโดยเติมทดแทนแป้งข้าวโพด 2%โดยน้ำหนัก พบว่ามีน้ำมันแยกตัวออกมา จึงได้ปรับลดปริมาณน้ำมันพืชจาก 17.50% เป็น 16.00% และเพิ่มปริมาณน้ำเป็น 2.75% โดยสูตรที่เติมผงเนื้อสำรองปริมาณ 2% น้ำมันพืช 16% และน้ำ 2.75% จะได้น้ำสลัดที่มีความหนืดดีและคงตัวได้ดีเมื่อเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องไม่น้อยกว่า 30 วัน การนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เยลลีมะม่วงและวุ้นสับปะรดพร้อมดื่ม จากการเติมผงสำรองในปริมาณเท่ากับปริมาณคาราจีแนนในสูตรเยลลี่มะม่วง และปริมาณวุ้นในวุ้นสับปะรดพร้อมดื่ม พบว่าไม่มีการจับตัวกัน ซึ่งวุ้นสับปะรดพร้อมดื่มผสมผงสำรองได้รับคะแนนในด้านลักษณะปรากฏ สี รสชาติ เนื้อสัมผัสและความชอบรวมในระดับไม่ชอบเล็กน้อยทุกตัวอย่าง ขณะที่เยลลีมะม่วงผสมสำรองได้รับคะแนนความชอบด้านรสชาติและเนื้อสัมผัสอยู่ในระดับชอบเล็กน้อย จึงได้ปรับสูตรเยลลีมะม่วงโดยการเติมผงวุ้นสำรองอบแห้ง 1.2% และคาราจีแนน 0.3% โดยน้ำหนักจะได้เยลลีที่มีการจับตัวเป็นก้อนและได้รับการยอมรับรวมสูงที่สุด ได้นำน้ำสลัดมังคุดผสมผงสำรองและเยลลีมะม่วงผสมผงสำรองไปวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการพบว่า การบริโภคน้ำสลัดมังคุดผสมผงสำรอง 100 กรัม จะได้รับพลังงาน 304.35 กิโลแคลอรี เป็นพลังงานจากไขมัน 175.59 กิโลแคลอรี และการบริโภคเยลลีมะม่วงผสมผงสำรอง 100 กรัมจะได้รับพลังงาน 129.24 กิโลแคลอรี


ไฟล์แนบ
.pdf   156_2558.pdf (ขนาด: 1.31 MB / ดาวน์โหลด: 1,687)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 4 ผู้เยี่ยมชม