11-24-2016, 10:16 AM
วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขมิ้นชันอย่างยั่งยืน
สุภาภรณ์ สาชาติ, สุมาลี ศรีแก้ว, ชญานุช ตรีพันธุ์, ศุภลักษณ์ ทองทิพย์, นาตยา ดำอำไพ, สุนิตรา คามีศักดิ์, ลัดดาวัลย์ อินทร์สังข์, บรรเจิด พูลศิลป์, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, วรรณภา อุปถัมภ์, รัตนพร ทิพปันนา และนฤพงศ์ ยิ่งวุฒิวรกุล
สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา
สุภาภรณ์ สาชาติ, สุมาลี ศรีแก้ว, ชญานุช ตรีพันธุ์, ศุภลักษณ์ ทองทิพย์, นาตยา ดำอำไพ, สุนิตรา คามีศักดิ์, ลัดดาวัลย์ อินทร์สังข์, บรรเจิด พูลศิลป์, วันเพ็ญ พฤกษ์วิวัฒน์, วรรณภา อุปถัมภ์, รัตนพร ทิพปันนา และนฤพงศ์ ยิ่งวุฒิวรกุล
สถาบันวิจัยพืชสวน, ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพังงา
จากผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตรในเรื่องการปลูกขมิ้นชัน ทั้งด้านพันธุ์ขมิ้นชัน และแนวทางการควบคุมโรคเหี่ยวของขมิ้นชันโดยการใช้ปุ๋ยพืชสดจากพืชตระกูลกะหล่ำ ควรนำไปทดสอบในแปลงของเกษตรกรก่อน เพื่อการปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จึงได้ทำการศึกษาเป็น 2 การทดลอง ได้แก่ ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขมิ้นชันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในสภาพแปลงปลูก และการทดสอบขมิ้นชันพันธุ์ 84-2 และเทคโนโลยีการผลิตในแปลงเกษตรกร
ศึกษาการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของขมิ้นชันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในสภาพแปลงปลูก ผลการทดลองปีแรก (ปี 2556) ในแปลงปลูกขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 1 พบมีการระบาดของเชื้อแบคทีเรียตั้งแต่อายุ 3 เดือน และที่อายุ 5 ทุกกรรมวิธีต้นขมิ้นชันมีการตายเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าสาเหตุจากมีฝนตกหนักติดต่อหลายวัน ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายและมีอาการรุนแรง ประกอบกับไม่ได้ถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงทดลอง ลักษณะโรคจึงแสดงอาการรุนแรงเด่นชัด ขณะที่ปีที่ 2 (ปี 2557) ในระหว่างการทดลองเมื่อพบต้นเป็นโรคจะถอนต้นออกและใส่ปูนขาวฆ่าเชื้อในหลุม ทำให้ต้นขมิ้นชันที่อายุ 5 เดือน มีต้นเป็นโรคน้อยมากและให้ผลผลิตสูง โดยที่อายุ 9 เดือนมีน้ำหนักหัวและแง้งเฉลี่ย 1.05 กิโลกรัมต่อกอ หรือประมาณ 9,599 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้การใส่ปูนขาวร่วมกับปุ๋ยยูเรียพบว่า ต้นขมิ้นชันมีแนวโน้มมีการเจริญเติบโตดี ให้น้ำหนักหัวและแง้งสูงกว่าวิธีอื่นๆ คือ มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.23 กิโลกรัมต่อกอ รองลงเป็นวิธีหมักผักกาดเขียวมี 1.14 กิโลกรัมต่อกอ ขณะที่วิธีควบคุมมีน้ำหนักต่ำที่สุด คือ 0.94 กิโลกรัมต่อกอ ทั้งนี้อาจเพราะสภาพดินมีคำความเป็นกรดลดลง และดินมีธาตุอาหารแคลเซียมและแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น ส่วนในด้านโรค ในปีที่ 2 ไม่พบอาการของโรคเหี่ยว แม้ว่าพื้นที่นี้เคยปลูกขมิ้นชันและเป็นโรคนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งการหมักต้นผักกาดเขียวและมันเทศ การพ่นสารไคโตซาน พ่นน้ำหมักชีวภาพ การใส่ปูนขาวและยูเรีย สามารถลดปริมาณการเกิดโรคในขมิ้นชันได้ โดยเฉพาะวิธีหมักผักกาดเขียวและการใส่ปุ๋ยปูนขาวร่วมกับปุ๋ยยูเรีย สามารถลดได้ 25 - 30 เปอร์เซ็นต์
การทดสอบขมิ้นชันพันธุ์ 84-2 และเทคโนโลยีการผลิตในแปลงเกษตรกร ทำการทดสอบขมิ้นชันพันธุ์ 84-2 และเทคโนโลยีการผลิตในแปลงเกษตรกร จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา ตั้งแต่ปี 2556 - 2558 รวม 3 ปี สรุปได้ว่า ขมิ้นชันที่ปลูกโดยใช้พันธุ์ 84-2 และดูแลโดยใช้เทคโนโลยีกรมวิชาการเกษตร จะให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ย 2,720 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนขมิ้นชันที่ปลูกโดยใช้พันธุ์พื้นเมือง และดูแลโดยใช้เทคโนโลยีเกษตรกร จะให้ผลผลิตน้อยสุดเฉลี่ย 1,478 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนปัญหาเรื่องโรคนั้น พบเพียงแต่โรคเหี่ยว แต่ยังไม่รุนแรงมากจึงได้แนะนำให้ขุดและเผาทำลายต้นที่เป็นโรค