วิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลรองเท้านารีเพื่อการค้า
#1
วิจัยและพัฒนากล้วยไม้สกุลรองเท้านารีเพื่อการค้า
สุภาภรณ์ สาชาติ, อำนวย อรรถลังรอง, วิภาดา ทองทักษิณ, สุปัน ไม้ดัดจันทร์, นาตยา ดำอำไพ, เพ็ญลักษณ์ ชูดี, ฉัตรนภา ข่มอาวุธ, มะนิต สารุณา, เยาวภา เต้าชัยภูมิ, ณัฐฏา ดีรักษา, อรุณี ใจเถิง, พรพิมล อธิปัญญาคม, สราวุฒิ ปานทน, ไว อินต๊ะแก้ว, นันทรัตน์ ศุภกำเนิด, วัชรพล บำเพ็ญอยู่, ไกรสิงห์ ชูดี, ชนินทร ดวงสะอาด, จงวัฒนา พุ่มหิรัญ, วุฒิพล จันทร์สระคู, นาวี จิระชีวี, วิโรจน์ โหราศาสตร์ และลัคนา เขตสมุทร

          ประเทศไทยเป็นแหล่งส่งออกกล้วยไม้รองเท้านารีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ไม่แพ้ไม้ดอกไม้ประดับประเภทอื่น และเป็นแหล่งกำเนิดของรองเท้านารีที่สำคัญแห่งหนึ่ง จึงควรและจำเป็นต้องพัฒนาพันธุ์ต่อไป เพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งไม้ตัดดอกและไม้กระถาง แต่ในภาคการผลิตยังประสบปัญหาอุปสรรคสำคัญบางประการที่เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาพืช คือ ปัญหาด้านการขยายพันธุ์ ที่เป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงพันธุ์ ขาดเทคโนโลยีในการกำหนดการผลิตและผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาพืชสกุลรองเท้านารีต่อเนื่องจากอดีตจนถึงช่วงปี 25548 - 2558 โดยครอบคลุมงานวิจัยในหลายสาขาทั้งการพัฒนาพันธุ์เพื่อสร้างลูกผสมใหม่ การขยายพันธุ์เลียนแบบธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากราในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ และการการพัฒนาเทคโนโลยีโรงเรือน วัสดุปลูกและการให้ปุ๋ยเคมี จากการดำเนินการในด้านต่างๆ ได้ผล ดังนี้

          การปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี เพื่อหาพ่อแม่พันธุ์ที่เหมาะสมในการสร้างกล้วยไม้ลูกผสมรองเท้านารีในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีศักยภาพในการผลิตเป็นการค้า และการคัดเลือกและสร้างสายพันธุ์แท้กล้วยไม้รองเท้านารีในท้องถิ่นต่างๆ จึงได้รวมรวมพันธุ์รองเท้านารีได้ทั้งสิ้น 14 ชนิด ตามสถานที่ต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของแต่ละชนิด สำหรับการพัฒนาพันธุ์ลูกผสมชั่วที่ 1 มีรองเท้านารีบางชนิดที่มีความก้าวหน้าและจำเป็นต้องมีการประเมินทดสอบลูกผสมในช่วงปีต่อไป คือ ลูกผสมรองเท้านารีอินทนนท์ลาว ลูกผสมรองเท้านารีฝาหอยและดอยตุง (ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย)

          การเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี การขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเลียนแบบธรรมชาติเปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ ได้นำเมล็ดกล้วยไม้รองเท้านารีมาเพาะในสภาพธรรมชาติ (ในกระถางกล้วยไม้ดินใบหมาก) และเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ พบว่าการงอกและการเจริญเติบโตของกล้วยไม้รองเท้านารีที่เพาะในสภาพธรรมชาติเร็วกว่าที่เพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อ และการศึกษาชนิดราไมโคไรซ่ากล้วยไม้ใกล้สูญพันธุ์และการใช้ประโยชน์ราในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้พบว่า รา E. calendulina (RZ 0050) มีศักยภาพสูงที่สุดในการส่งเสริมการงอกและการพัฒนาเป็นต้นอ่อนของกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่และได้ต้นอ่อนที่แข็งแรงในการนำไปเพาะเลี้ยงในเรือนทดลอง ราไมคอร์ซาทั้งหมดได้เก็บรักษาเชื้อบริสุทธิ์ที่แยกได้ใน liquid paraffin และบน slant PDA ภายใต้อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ที่กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไม้รองเท้านารี การพัฒนาและปรับปรุงโรงเรือนสำหรับกล้วยไม้รองเท้านารี ได้เปรียบเทียบโรงเรือนต้นแบบที่มีหลังคาพลาสติกมาพัฒนาปรับปรุงให้มีการระบายอากาศที่ดีขึ้นโดยการติดตั้งพัดลมระบายอากาศ ขนาด 16 นิ้ว จำนวน 2 ตัว บริเวณใต้หลังคาโรงเรือน กับโรงเรือนแบบเกษตรกร ทดสอบปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกาญจน์ พบว่าการเปิดพัดลมระบายอากาศนาน 30 นาที ร่วมกับการเปิดระบบพ่นหมอกนาน 5 นาที วันละ 3 ครั้ง ในเวลา 11.00 น. 13.00 น. และเวลา 15.00 น. จะทำให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนต้นแบบลดลง 2 - 3 องศาเซลเซียส และรักษาสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรือนได้นาน 45 - 60 นาที โดยโรงเรือนแบบเกษตรกรหน่อจะมากกว่าโรงเรือนต้นแบบ แต่โรงเรือนต้นแบบมีดอก และฝักมากกว่าโรงเรือนแบบเกษตรกร สำหรับ การทดลองการตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ ของกล้วยไม้รองเท้านารีฝาหอยพบว่า วิธีการใส่ปุ๋ยผสมเองสูตร 20-10-25 ความเข้มข้น 100 ppm มีผลทำให้กล้วยไม้รองเท้านารีฝาหอยออกดอกได้ดีที่สุด แต่การใส่ปุ๋ยเคมีทุกวิธีการและไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ทำให้การเจริญเติบโตทางลำต้นแตกต่างกัน และการศึกษาวัสดุปลูกร่วมกับการจัดการปุ๋ยกับกล้วยไม้รองเท้านารี ผลการทดลองที่เชียงราย ต้นรองเท้านารีในทุกวัสดุปลูกมีการแตกใบใหม่สะสม หน่อใหม่ที่เกิดมีจำนวนเฉลี่ย 0.25 - 1.33 หน่อ ต้นที่มีจำนวนใบที่เพิ่มน้อย เพราะออกดอก หรือตายแล้วแตกหน่อใหม่ ซึ่งมีการเกิดเช่นนี้ได้ในทุกวัสดุปลูก ผลการทดลองที่สถาบันวิจัยพืชสวน ต้นรองเท้านารีในทุกวัสดุปลูกมีการแตกใบใหม่สะสม เฉลี่ย 3.90 - 5.17 ใบ การแตกใบใหม่มีจำนวนมากกว่าที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายเนื่องจากดำเนินงานวิจัยที่สถาบันฯก่อนประมาณ 1 ปี หน่อใหม่ที่เกิดมีจำนวนเฉลี่ย 0.00 - 1.17 หน่อ ต้นที่มีจำนวนใบที่เพิ่มน้อย เพราะออกดอก หรือตายแล้วแตกหน่อใหม่เช่นเดียวกับต้นทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย อย่างไรก็ตาม การตายของใบ และต้นทดลอง ยังคงมีอย่างต่อเนื่องและเกิดขึ้นในทุกวัสดุปลูกเช่นเดียวกัน


ไฟล์แนบ
.pdf   95_2558.pdf (ขนาด: 5.16 MB / ดาวน์โหลด: 3,362)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 2 ผู้เยี่ยมชม