การใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในพริก
#1
การใช้เหยื่อโปรตีนเพื่อป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ในพริก
วิภาดา ปลอดครบุรี, สัญญาณี ศรีคชา, เกรียงไกร จำเริญมา และศรุต สุทธิอารมณ์
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช

          ทำการทดสอบประสิทธิภาพเหยื่อโปรตีนอินไวท์ (Invite) ในการดึงดูดแมลงวันผลไม้ชนิด Bactrocera latifrons (Hendel) เปรียบเทียบกับเหยื่อโปรตีนดีโอเอเบท (DOA Bait) ในห้องปฏิบัติการของกลุ่มกีฏและสัตววิทยา ในปี 2551 - 2552 พบว่า เหยื่อโปรตีนอินไวท์สามารถดึงดูดแมลงวันผลไม้ได้เทียบเท่าและไม่แตกต่างทางสถิติกับเหยื่อโปรตีนดีโอเอเบท แล้วทำการทดสอบอัตราการใช้เหยื่อโปรตีนอินไวท์ที่มีประสิทธิภาพในการดึงดูดแมลงวันผลไม้พริก วางแผนการทดลองแบบ RCB 4 ซ้ำ มี 5 กรรมวิธี โดยแต่ละกรรมวิธีใช้เหยื่อโปรตีนอินไวท์ อัตรา 200, 300, 400 และ 500 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร เปรียบเทียบกับเหยื่อโปรตีนดีโอเอทเบทอัตรา 200 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร พบว่า เหยื่อโปรตีนอินไวท์อัตรา 200 มิลลิลิตรในน้ำ 5 ลิตร เป็นอัตราที่เหมาะสมในการดึงดูดแมลงวันผลไม้พริกได้ดีเทียบเท่าและไม่แตกต่างทางสถิติกับเหยื่อโปรตีนดีโอเอเบท และการศึกษาประสิทธิภาพสารฆ่าแมลงที่เหมาะสมในการผสมกับเหยื่อโปรตีนอินไวท์เพื่อใช้เป็นเหยื่อพิษในการป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้ 4 ซ้ำ มี 9 กรรมวิธี ในแต่ละกรรมวิธีผสมเหยื่อโปรตีนอินไวท์อัตรา 200 มิลลิลิตร ด้วยสารฆ่าแมลงชนิดและอัตราต่างๆ ในน้ำ 5 ลิตร ดังนี้ ผสมด้วยสารฆ่าแมลง malathion 57 %EC อัตรา 10 มิลลิลิตร, imidacloprid 70 %WG อัตรา 2.5 กรัม, dinotefuran 10 %WP อัตรา 5 กรัม, lambda-cyhalothrin 2.5 %CS อัตรา 5 มิลลิลิตร, profenofos 50 %EC อัตรา 7.5 มิลลิลิตร, fipronil 5 %SC อัตรา 5 มิลลิลิตร, deltamethrin 3 %EC อัตรา 5 มิลลิลิตร และ thiamethoxam 25 %WG อัตรา 2.5 กรัม พบว่า ผสมด้วยสารฆ่าแมลง malathion 57 %EC อัตรา 10 มิลลิลิตร มีประสิทธิภาพดีที่สุดในการกำจัดแมลงวันผลไม้ชนิด B. latifrons และทุกกรรมวิธีที่ผสมสารฆ่าแมลงมีจำนวนตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้ตายมากกว่าและแตกต่างทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญกับกรรมวิธีไม่ผสมสารฆ่าแมลง ซึ่งไม่มีตัวเต็มวัยแมลงวันผลไม้ตาย


ไฟล์แนบ
.pdf   1130_2552.pdf (ขนาด: 153.34 KB / ดาวน์โหลด: 466)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม