08-04-2016, 02:51 PM
ศึกษาเทคนิคการพ่นสารเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูกล้วยไม้บางชนิด
พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, ดำรง เวชกิจ, จีรนุช เอกอำนวย, สรรชัย เพชรธรรมรส และสิริวิภา พลตรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
พฤทธิชาติ ปุญวัฒโท, ดำรง เวชกิจ, จีรนุช เอกอำนวย, สรรชัย เพชรธรรมรส และสิริวิภา พลตรี
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
ทำการศึกษาเทคนิคการพ่นสารป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟฝ้าย (Thrips palmi karny) ในกล้วยไม้ ทีสวนกล้วยไม้ของเกษตรกร อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ระหว่างเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2552 ทำการทดลอง 2 ครั้ง วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 6 กรรมวิธี จำนวน 4 ซ้ำคือ พ่นสารแบบน้ำมากด้วยเครื่องยนต์พ่นสารแบบแรงดันน้ำสูงประกอบหัวฉีดกรวยกลวงแบบแผ่นกระแสวนและหัวฉีดแยกกัน (disc and core) ที่อัตราพ่น 120, 120, 160 ลิตร/ไร่ ด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 0.5, 1.0 และ 0.5 เมตร และพ่นสารแบบน้ำน้อยมากด้วยเครื่องพ่นสาร CDA (Controlled Droplet Application) แบบ Air-assisted (Turbair) ที่อัตราพ่น 6 ลิตร/ไร่ ด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 0.5 และ 1.0 เมตร เปรียบเทียบกับกรรมวิธีไม่พ่นสาร ทำการพ่นสาร emamectin benzoate (Proclaim 1.92 %EC) อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร พ่นสารทุก 4 วัน ตรวจนับเพลี้ยไฟจำนวน 25 ช่อ/แปลงย่อย (ช่อละดอก) ก่อนพ่นสารทุกครั้งและหลังพ่นสารครั้งสุดท้าย 4 วัน ผลการทดลองพบว่า ทุกกรรมวิธีการพ่นสารแบบน้ำมากมีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดเพลี้ยไฟไม่แตกต่างกัน จึงสามารถพ่นในอัตราการพ่น 120 ลิตร/ไร่ ได้สามารถประหยัดสารฆ่าแมลงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบวิธีการของเกษตรกร ส่วนการพ่นสารแบบน้ำน้อยมากด้วยเครื่อง Turbair มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการพ่นแบบน้ำมาก โดยสามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงได้ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ เช่นกัน เมื่อเทียบกับวิธีการของเกษตรกร นอกจากนี้การพ่นสารทั้งแบบน้ำมากและน้ำน้อยมาก ด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 1.0 เมตร สามารถลดเวลาการพ่นสารได้ 2 - 4 เท่า เมื่อเทียบกับการพ่นด้วยความกว้างแนวพ่นสาร 0.5 เมตร