การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเงาะนอกฤดูในภาคตะวันออก
#1
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเงาะนอกฤดูในภาคตะวันออก
ปัญจพร เลิศรัตน์, ภิรมย์ ขุนจันทึก, เสริมสุข สลักเพ็ชร์ และบงกช ยอทำนบ

          เงาะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณการผลิตไม่สอดคล้องต่อความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออก ผลผลิตส่วนใหญ่ประมาณ 65% หรือประมาณ 356,640 ตัน จะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ผลผลิตที่มากเกินความต้องการทำให้เกิดการแข่งขันสูงอีกทั้งเป็นผลผลิตที่เน่าเสียได้ง่าย ราคาจึงตกต่ำ ดังนั้นการกระจายการผลิต เพื่อลดปริมาณการแข่งขันของผลผลิตในช่วงระยะเวลาเดียวกัน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพการผลิตเงาะ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเงาะนอกฤดูในภาคตะวันออก จำนวน 3 การทดลอง ในแหล่งปลูกต่างๆ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ระหว่างปีการทดลอง พ.ศ.2546 - 2551 โดยศึกษาหาวิธีการปรับปรุงโครงสร้างต้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การให้สภาวะเครียดเนื่องจากการขาดน้ำในระดับต่างๆต่อการกระตุ้นการออกดอก และการจัดการเขตกรรมหรือการให้สารเคมีกระตุ้นการออกดอก จากการทดลองที่ 1 พบว่า ต้นทดลองที่ทำการตัดแต่งทรงพุ่มและฉีดพ่นปุ๋ยโพแทสเซียมไนเตรท (13-0-46) ทางใบ อัตรา 0.5% ในระยะใบคลี่ออกมา 2/3 ของขนาดใบปกติส่งเสริมให้มีการแตกใบเร็ว สม่ำเสมอมากขึ้น โดยใช้เวลาพัฒนาการเป็นใบแก่ประมาณ 25 - 30 วัน/ชุดใบ สอดคล้องต่อการประเมินการสะสมอาหารในต้นเพื่อความพร้อมในการออกดอกจากการตรวจสอบสัดส่วนของ TNC/TN ในใบเงาะทดลอง ก่อนให้กรรมวิธี ก่อนออกดอกและหลังการออกดอก ซึ่งพบว่า การควบคุมทรงพุ่มร่วมกับการให้ปุ๋ยทางใบ มีแนวโน้มการสะสมอาหารก่อนออกดอกได้รวดเร็ว และมีอัตราสูงกว่ากรรมวิธีควบคุม และจากการทดลองที่ 2 พบว่า การให้สภาวะเครียดเนื่องจาการขาดน้ำจะมีผลต่อการกระตุ้นการออกดอกได้ในสภาวะที่มีสภาพความชื้นสะสมสูง การงดน้ำ หรือการลดปริมาณการให้น้ำน้อยกว่าปริมาณการใช้น้ำปกติ มีส่วนส่งเสริมการออกดอกได้ดี แต่ในสภาวะที่มีความแห้งแล้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ (50-60%RH) การงดน้ำ หรือ การลดปริมาณการให้น้ำลงเหลือเพียง 25% ของปริมาณการใช้น้ำกลับทำให้พัฒนาการชะลอลงไม่สามารถกระตุ้นการออกดอกได้เร็วกว่าปกติได้ แต่มีแนวโน้มว่าการให้สภาวะเครียดเนื่องจากการขาดน้ำร่วมกับการฉีดพ่นสารคาร์โบไฮเดรททางใบมีผลส่งเสริมการพัฒนาการหลังการออกดอก ในด้านการเจริญเติบโตของช่อดอก การติดผล และปริมาณผลผลิตได้ดีกว่าการลดปริมาณการให้น้ำอย่างเดียว และจากการติดตามดัชนีการสะสมอาหารในสัดส่วนของ TNC/TN แล้ว พบว่า ต้นทดลองที่ได้รับความเครียดระดับเนื่องจากการขาดน้ำร่วมกับการให้สารคาร์โบไฮเดรททางใบ มีแนวโน้มการเพิ่มปริมาณ TNC ได้ดีกว่าการให้ความเครียดน้ำอย่างเดียว ซึ่งการให้ปุ๋ยทางใบในระยะก่อนการออกดอกแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่ช่วยลดความแปรปรวนในการออกดอกได้ และ การทดลองที่ 3 เมื่อทำการเปรียบเทียบการออกดอกแล้ว พบว่า ต้นทดลองที่ทำการควั่นกิ่ง และการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตทางดิน มีผลการกระตุ้นการออกดอกได้เร็วกว่ากรรมวิธีควบคุม โดยพบว่า การควั่นกิ่งมีการออกดอกได้เร็วกว่ากรรมวิธีควบคุมประมาณ 10-20 วัน และการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตทางดิน อัตรา 10 กรัม/พื้นที่ใต้ทรงพุ่ม 1 ตร.ม. มีการออกดอกเร็วกว่ากรรมวิธีควบคุมเฉลี่ยประมาณ 10 วัน โดยยังคงมีคุณภาพช่อดอกในด้านความยาวช่อดอก ความหนาแน่นช่อดอกได้ดีกว่ากรรมวิธีควบคุมอย่างเห็นได้ชัดเจนทางสถิติ และมีการติดผลพัฒนาการของผลผลิตได้ดีเช่นกัน ส่งผลให้มี น้ำหนักผลเฉลี่ยในเกณฑ์ค่อนข้างสูง คือ 40.73 และ 40.20 กรัม ตามลำดับ นอกจากนั้นยังให้คุณภาพการบริโภคได้ดี มีความหวานและสัดส่วนที่บริโภคได้ไม่แตกต่างจากผลผลิตที่ได้จากต้นทดลองในกรรมวิธีควบคุม สามารถเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ซึ่งมีราคาเฉลี่ยสูงถึง 25 - 30 บาท/กก. และเก็บเกี่ยวผลเงาะชุดสุดท้ายราวต้นเดือนพฤษภาคม ที่ยังคงมีราคาเฉลี่ยค่อนข้างสูง คือ 12 - 13 บาท/กก. สูงกว่าราคาเฉลี่ยของผลผลิตในฤดูกาลผลิต ที่ได้รับประมาณ 6-8 บาท/กก. และจากการติดตามปริมาณไนโตรเจนและปริมาณคาร์โบไฮเดรทที่ไม่อยู่ในโครงสร้างในระยะพัฒนาการของดอก พบว่า ปริมาณไนโตรเจนมีการเปลี่ยนแปลงระดับค่อนข้างน้อย มีความเข้มข้นในใบเฉลี่ย 1.97 - 2.0% ในระยะก่อนออกดอกและลดลงเล็กน้อย คือ 1.91% ในระยะแทงช่อดอกแล้ว หรือระยะใบที่เริ่มแก่ ส่วนปริมาณคาร์โบไฮเดรทที่ไม่อยู่ในโครงสร้างมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า โดยมีระดับที่ค่อยๆสูงขึ้นในช่วงก่อนออกดอก และลดระดับลงในระยะการแทงช่อดอก หลังจากนั้นจึงมีการสะสมปริมาณคาร์โบไฮเดรทอีกครั้ง สำหรับกรรมวิธีการควั่นกิ่งซึ่งมีการออกดอกได้เร็วนั้น มีปริมาณคาร์โบไฮเดรทที่ไม่อยู่ในโครงสร้างในระยะต่างๆ เฉลี่ย คือ 4.9, 5.6 และ 4.3% นอกจากนี้จากการประเมินข้อมูลสภาพแวดล้อมเฉพาะในระยะก่อนการออกดอกของแปลงทดลอง พบว่า อุณหภูมิต่ำสุดและ ความชื้นสัมพัทธ์ในช่วงพัฒนาตาดอก 15 - 20 วัน มีค่าเฉลี่ย 20 - 22 องศาเซลเซียส และ 74 %RH ตามลำดับ ดังนั้นการผลิตเงาะนอกฤดูให้ประสบผลและมีผลตอบแทนสูงจึงควรมีการเตรียมต้นให้พร้อมการเพิ่มประสิทธิภาพการออกดอก การกระตุ้นการออกดอก ควบคู่กับการพิจารณาการจัดการสวนให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมของการผลิตนั้นๆ อีกด้วย


ไฟล์แนบ
.pdf   1071_2551.pdf (ขนาด: 1.71 MB / ดาวน์โหลด: 1,797)
ตอบกลับ




ผู้ที่กำลังดูเรื่องนี้: 1 ผู้เยี่ยมชม