08-03-2016, 03:32 PM
การศึกษาระบบการผลิตและการตลาดลำไยสดส่งออก
ปริศนา หาญวิริยะพันธุ์, กิ่งกาญจน์ เกียรติอนันต์, ชวนชื่น เดี่ยววิไล, ฉัตรสุดา เชิงอักษร, ศิริพร พจนสุนทร, สุวรรณ หาญวิริยะพันธุ์
ปริศนา หาญวิริยะพันธุ์, กิ่งกาญจน์ เกียรติอนันต์, ชวนชื่น เดี่ยววิไล, ฉัตรสุดา เชิงอักษร, ศิริพร พจนสุนทร, สุวรรณ หาญวิริยะพันธุ์
การศึกษาระบบการผลิตและการตลาดของลำไยสดส่งออกเพื่อให้ได้ข้อมูลการใช้เทคโนโลยีการผลิตลำไยของเกษตรกรและวิถีการตลาดของลำไยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ดำเนินการช่วงปี 2549 - 2551 โดยการสุ่มตัวอย่างเกษตรกร จำนวน 200 ราย และผู้ประกอบการรวบรวมผลผลิตและคัดบรรจุ จำนวน 33 ราย ในพื้นที่แหล่งผลิตลำไยสดส่งออก 2 อำเภอ คือ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน การศึกษาข้อมูลทั่วไปพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 41 - 60 ปี มีการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่มีประสบการณ์ทำสวนลำไยมานานตั้งแต่ 11 มากกว่า 20 ปี รายได้หลักมาจากภาคเกษตรและส่วนใหญ่มีพื้นที่เกษตรเป็นของตนเอง แหล่งเงินทุนจะใช้ของตนเองเป็นหลัก สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเหมาะสมกับการปลูกลำไยคือ เป็นพื้นที่ราบ ชนิดดินเป็นดินร่วนปนทราย มีน้ำเพียงพอตลอดปี อายุต้นลำไยอยู่ระหว่าง 11 - 20 ปี แหล่งความรู้ที่เกษตรกรได้รับและนำมาปฏิบัติส่วนใหญ่ร้อยละ 93 เกษตรกรศึกษาด้วยตนเอง ด้านการผลิตพบว่าเกษตรกรปลูกพันธุ์อีดอทั้งหมด เกษตรกรปรับปรุงดินโดยใช้ปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก ความถี่ที่ใส่ไม่แน่นอน การใช้ปัจจัยการผลิต โดยทั่วไปเกษตรกรใช้ ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลัก ส่วนใหญ่ไม่มีการวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การใส่ปุ๋ยเคมีแบ่งเป็น 3 ระยะ คือเตรียมต้น ออกดอก และสร้างผล การใส่ปุ๋ยเคมีมีหลายสูตรแตกต่างกันตามระยะการพัฒนาและเกษตรกรแต่ละราย ปุ๋ยเคมีหลักที่ใช้คือ 15-15-15 46-0-0 และ 13-13-21 ไม่มีการผสมแม่ปุ๋ยใช้ แต่มีการใช้ธาตุอาหารรองเสริม ด้านการป้องกันกำจัดโรคและแมลง เกษตรกรส่วนใหญ่พบโรคและแมลงในสวนลำไย ใช้วิธีแก้ไขคือพ่นสารเคมี การจัดการสวนด้านตัดแต่งกิ่ง เกษตรกรตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มและตัดแต่งทุกปีหลังการเก็บเกี่ยวลำไย แต่จะไม่มีการตัดแต่งช่อผลเพื่อเพิ่มขนาดผลลำไย เนื่องจากมีความยุ่งยากและต้นทุนสูง สำหรับการเก็บเกี่ยวตัวชี้วัดสำคัญที่เกษตรกรใช้คือ สีผิว ลักษณะผิว นอกจากนี้ยังพิจารณาขนาดผล และอายุผลประกอบด้วย สำหรับคำแนะนำที่เกษตรกรได้รับนั้น ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ย การใช้สารกระตุ้น การออกดอก และการป้องกันกำจัดโรคและแมลง รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพลำไยด้วย สำหรับระบบตลาดเกษตรกรมีทางเลือกการขายผลผลิต คือ ขายลำไยสดเพื่อส่งออก ขายลำไยสดแบบมัดช่อ หรือขายเพื่ออบแห้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตลาดและราคา วิธีขายมีทั้งเกษตรกรเก็บขายเอง ขายเหมาสวนแต่จุดอ่อนคือเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองเรื่องราคาโดยเฉพาะการขายลำไยสดเพื่อส่งออก เนื่องจากผู้ประกอบการมีการกำหนดราคาตามคุณภาพของลำไย ซึ่งผู้ประกอบการจะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์คุณภาพ